กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติชี้แจงการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณ( G1/61) ได้ไม่ถึง 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ตามเป้าหมายจะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากได้มีการแก้ไขปัญหา โดยให้ ปตท.สผ.เพิ่มกำลังการผลิตจากแหล่งบงกชและแหล่งอาทิตย์ มาชดเชยในปริมาณรวม 160 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมทั้งการเลื่อนแผนซ่อมบำรุงของแหล่งยาดานา ในเมียนมาออกไป โดยระบุ 1 เมษายน 2567 กำลังการผลิตของ G1/61 จะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มิเช่นนั้น ปตท.สผ.อีดี ที่เป็นผู้รับสัญญาภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิตจะต้องจ่ายค่าปรับจากการผิดสัญญา
ดร.ศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ว่า การผลิตก๊าซธรรมชาติจาก แหล่งG1/61 ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต โดยที่มีบริษัท ปตท.สผ.อีดี เป็นผู้รับสัญญา ไม่สามารถที่จะเพิ่มการผลิตจาก 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ณ วันที่ 1 กรกฎาคม เป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันที่1 ธันวาคม 2566 ได้ตามแผนที่กำหนด เนื่องจากมีการตรวจพบว่าเครนของเรือ K1 ซึ่งเป็นเรือที่ใช้ติดตั้งแท่นหลุมผลิตเกิดความเสียหายที่อาจจะเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติงาน จึงจำเป็นต้องมีการจัดหาเรือลำใหม่มาเปลี่ยน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการติดตั้งแท่นหลุมผลิตโดยเรือลำใหม่แล้ว แต่กรณีดังกล่าวทำให้ งานมีความล่าช้าไปจากแผนเดิมที่วางไว้ประมาณ 2 เดือนและกระทบต่อการเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซ ที่ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าปริมาณการผลิตก๊าซให้ได้ถึง 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะทำได้ในเดือนใด อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ.อีดี มีปริมาณตามสัญญาที่ตกลงไว้กับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติว่า ในวันที่ 1 เมษายน 2567 จะต้องเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซจากแหล่ง G1/61 ให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยจะต้องยืนระดับการผลิตในระดับดังกล่าวให้ต่อเนื่อง 90 วัน แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ ก็จะต้องถูกปรับตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา
ดร.ศุภลักษณ์ กล่าวว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้มีการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาการผลิตก๊าซธรรมชาติจาก G1/61 ที่ไม่ได้ปริมาณตามกำหนดแล้ว โดยก๊าซธรรมชาติส่วนที่ขาดไปประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทางปตท.สผ.จะเพิ่มการผลิตจากแหล่งบงกชเข้ามาทดแทนประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจากแหล่งอาทิตย์อีกประมาณ 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมเป็น 160 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน นอกจากนี้ยังมีการเจรจากับทางมาเลเซีย เพื่อที่จะขอรับก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเจดีเอ ในช่วงที่โรงแยกก๊าซของมาเลเซียหยุดซ่อมบำรุง รวมทั้งการที่โอเปอเรเตอร์ของแหล่งยาดานาจะเลื่อนแผนการหยุดซ่อมบำรุงออกไปก่อน ซึ่งจะทำให้มีก๊าซธรรมชาติ ไหลเข้ามาเติมในระบบปริมาณ21-51 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า เพราะอาจไม่ต้องนำเข้าLNG ที่มีราคาแพงกว่ามาเพื่อทดแทนก๊าซจากแหล่งเอราวัณที่ผลิตไม่ได้ปริมาณตามเป้าหมาย
“ก๊าซในอ่าวไทยจากแหล่งเอราวัณที่การผลิตไม่เป็นไปตามแผน ถูกบริหารจัดการให้มีการผลิตเพิ่มจากแหล่งอื่นเข้ามาทดแทนในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน จึงเชื่อว่า จากกรณีดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างมีนัยสำคัญ ” ดร.ศุภลักษณ์ กล่าว
ทั้งนี้การผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณมีการลดระดับการผลิตมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมกราคม2563 ที่อยู่ระดับ 1200-1300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จนถึงระดับ375 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน เนื่องจากผู้รับสัมปทานรายเดิมแพ้ประมูล จึงหยุดลงทุนการเจาะหลุมผลิตเพื่อรักษาระดับการผลิตเอาไว้ ในขณะที่ผู้รับสัญญาใหม่ ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต ไม่สามารถที่จะเข้าพื้นที่ เพื่อลงทุนเจาะหลุมผลิตล่วงหน้าได้ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งหลังจากวันเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ในวันที่ 24 เมษายน 2565 การผลิตก๊าซก็ลดลงจาก 375 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเหลือ 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทำให้ ปตท.สผ.อีดี ต้องระดมการลงทุนติดตั้งแท่นหลุมผลิตแล้วเสร็จ 8 แท่น แท่นขุดเจาะ(RIG)6 แท่น และเจาะหลุมผลิตแล้วเสร็จ 218 หลุมซึ่งทำให้เพิ่มการผลิตก๊าซกลับมาอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ก่อนที่ในเดือนเดียวกันจะตรวจพบปัญหาเครนของเรือ K1ซึ่งเป็นเรือที่ใช้ติดตั้งแท่นหลุมผลิตได้รับความเสียหายและทำให้งานติดตั้งแท่นมีความล่าช้าไปจากแผนประมาณ 2 เดือน