กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเตรียมออก หลักปฏิบัติที่ดีสำหรับการนำเข้า-ส่งออก ถ่านหิน เป็นครั้งแรก

2036
- Advertisment-

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เตรียมออก หลักปฏิบัติที่ดีสำหรับการนำเข้า ส่งออกเชื้อเพลิงถ่านหิน(CoP) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เน้นดูแลกระบวนการลำเลียงและเก็บกองถ่านหินที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คาดอนาคตออกเป็นกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยภายหลังมอบรางวัล Thailand Coal Awards 2018 ว่า กรมฯเตรียมออก “ร่างประมวลหลักปฏิบัติที่ดีสำหรับการนำเข้าส่งออก เชื้อเพลิงถ่านหิน(Code of Practice : CoP)” เพื่อเป็นมาตรฐานให้ผู้ประกอบการสำรวจและนำเข้าส่งออกถ่านหินใช้เป็นเกณฑ์ปฏิบัติ โดยเฉพาะการลำเลียงถ่านหิน การเก็บและการกองถ่านหิน ที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีมาตรฐานการควบคุมดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในการนำเข้าส่งออกถ่านหินมาก่อน

ทั้งนี้กรมฯได้เปิดรับฟังความเห็นไปเมื่อเดือน ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างปรับแก้มาตรการดังกล่าวก่อนนำออกมาทดลองใช้ปฏิบัติจริง และในอนาคตจะยกระดับออกเป็นกฎหมายต่อไป  สำหรับปัจจุบันมีการนำเข้าถ่านหินในไทยประมาณ 22 ล้านตันต่อปี ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นถ่านหินที่มีกำมะถันต่ำ โดยมีผู้ประกอบการถ่านหินในไทยประมาณ 600 กว่าราย

- Advertisment -

สำหรับCoP จัดทำขึ้นให้กับผู้ปฏิบัติในทุกขั้นตอนนำไปใช้ประกอบด้วย 1. ผู้ประกอบการนำ เข้าส่งออกถ่านหิน 2.ผู้ประกอบการบริษัทขนส่งเชื้อเพลิงถ่านหินทางบก และทางน้ำ 3. ผู้ประกอบการท่าเรือขนส่งเชื้อเพลิงถ่านหิน 4. ผู้ประกอบการที่ใช้งานเชื้อเพลิงถ่านหิน 5.ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงถ่านหินอื่นๆ  โดยหลักปฏิบัติสำคัญอาทิ การปิดคลุมรถบรรทุกถ่านหินก่อนขนส่งทุกครั้ง  จัดให้มีระบบบำบัด้ำเสียในพื้นที่กองเก็บถ่านหินเพื่อบำบัดน้ำที่ปนเปื้อนจากถ่านหิน  เป็นต้น

อย่างไรก็ตามหากมาตรฐาน CoP กำหนดออกมาแล้ว จะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นำไปให้ผู้ประกอบการปฏิบัติในเบื้องต้น และหากในอนาคตออกเป็นกฎหมายจริงจะครอบคลุมไปถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินทุกแห่งต่อไปด้วย

Advertisment