กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศแนะทางรอดส่งออกไทย ต้องปรับตัวมุ่งสู่ Net Zero

263
- Advertisment-

ในงานเสวนาในเรื่อง  FAST TRACK to the NET ZERO ที่จัดโดยกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ “อรมน  ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  ชี้แนะว่า ขณะนี้ทุกเวทีการค้าโลก  รวมถึงนักธุรกิจทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่อง Climate Change และพร้อมให้การสนับสนุนสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนะทางรอดส่งออกไทยต้องปรับตัวมุ่งสู่ Net Zero พร้อมนำนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เนื่องในโอกาสที่กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทวัสดุศาสตร์ที่เน้นนวัตกรรมและความยั่งยืน ดำเนินกิจการมาครบรอบ 125 ปี จึงได้จัดงานเสวนาในเรื่อง FAST TRACK to the NET ZERO โดยมีเป้าหมายสร้างความยั่งยืนด้วยนวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง ในงานนี้ได้เชิญ อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ขึ้นกล่าวในหัวข้อ Surviving in the Low-carbon Export Markets หรือ ทางรอดสินค้าส่งออกไทยในตลาดคาร์บอนต่ำ  ซึ่งขณะนี้เวทีการค้าระหว่างประเทศทุกเวทีได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ถนนทุกสายมุ่งสู่ Climate Change

- Advertisment -
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม กล่าวว่าปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ  Climate Change มีความสำคัญมาก ทุกเวทีการค้าระหว่างประเทศมุ่งไปสู่การมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ล่าสุดบนเวที WTO มีสมาชิก 6 ประเทศ อาทิ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์  ไอซ์แลนด์ ฯลฯ . เสนอให้มีการลดภาษีสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม , จัดทำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการติดฉลากสิ่งแวดล้อม และขอให้ยกเลิกการอุดหนุนน้ำมันและเชื้อเพลิงฟอสซิล

 ขณะที่เวทีการประชุม APEC ซึ่งปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ  ก็ให้ความสนใจเรื่อง Climate Change เพราะสมาชิกมีการจัดทำบัญชีรายการสินค้าเพื่อลดภาษีนำเข้าให้เหลือไม่เกิน 5% ใน 54 รายการสินค้า และอยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่บริการสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ในเวทีของ FTA ยุคใหม่ก็มักมีข้อเสนอเรื่องการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน  ซึ่งรวมเรื่องสิ่งแวดล้อมและ Climate Change เป็นประเด็นสำคัญในการเจรจา

 สำหรับเวทีใหญ่อย่างกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งมีสมาชิกถึง 197 ประเทศทั่วโลก  มีหลักการสำคัญระบุว่าทุกประเทศมีความรับผิดชอบในการแก้ปัญหา Climate Change แต่ประเทศพัฒนาแล้วควรจะมีการดำเนินการที่เข้มข้นกว่าประเทศกำลังพัฒนา และมาตรการที่ใช้แก้ปัญหา Climate Change ไม่ควรเป็นการแอบแฝงการกีดกันการค้า

ในการประชุมรัฐภาคี UNFCCC ครั้งที่ 26 หรือ UN Climate Change Conference of the Parties (COP26) เมื่อปลายปีที่แล้ว นอกจากข้อตกลงที่จะร่วมมือกันรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสแล้ว เพื่อบรรลุเป้าหมายของการแก้ปัญหา Climate Change ยังมีข้อตกลงที่จะเร่งความพยายามในการลดการใช้พลังงานถ่านหิน ยกเลิกการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล และเร่งระดมเงินทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา เป็นต้น

บทบาทรัฐบาลไทยต่อปัญหา Climate Change

ในขณะที่รัฐบาลไทยก็ให้การสนับสนุนเรื่อง Climate Change โดยไทยตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี พ.ศ. 2573  และมุ่งสู่ net zero ภายในปี พ.ศ. 2608 โดยที่ผ่านมา มีการดำเนินงานที่สำคัญในเรื่องนี้ เช่น กระทรวงทรัพยากรฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนแม่บทเพื่อวางทิศทางไปสู่นโยบายที่ได้วางไว้ เช่น การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน , การลดปริมาณการปล่อยของเสีย ,การปลูกป่าเพิ่มขึ้น , การเพิ่มประสิทธิภาพของการเดินทางและขนส่ง การลดการใช้พลังงานภายในอาคาร และการส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ การลดปริมาณการเกิดของเสีย การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวของชุมชน การพัฒนาข้อมูล งานศึกษาวิจัย และเทคโนโลยีเกี่ยวกับ Climate Change รวมถึงการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

มาตรการ CBAM ของ EU

EU อยู่ระหว่างเตรียมใช้มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งเป็นการเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้านำเข้า โดยจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2566 กับสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม และอาจขยายให้ครอบคลุมสินค้าประเภทอื่นด้วยในอนาคต โดยในช่วง 3 ปีแรก (2566–2568) จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ให้ผู้นำเข้าเพียงแค่รายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ EU ทราบ และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าจะต้องจ่ายภาษีคาร์บอนตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่ตนนำเข้า

สำหรับสินค้าส่งออกของไทยที่เกี่ยวข้องกับมาตรการ  CBAM ในปี 2564 ไทยส่งออกสินค้าตามรายการ CBAM ไป EU $186.61 ล้าน USD (6,113.69 ล้านบาท) คิดเป็น 3.52% ของการส่งออกสู่โลก เช่น เหล็กและเหล็กกล้า มีมูลค่าส่งออก 4,109.08 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 3.76%  อะลูมิเนียม  มีมูลค่าส่งออก 2,004.15 ล้านบาทหรือ คิดเป็น 3.75% ของการส่งออกของไทยไปสู่โลก และ ซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้าไทยส่งออกไป EU ในปริมาณที่น้อยหรือเป็นศูนย์

ทางรอดของการส่งออกไทย

อรมน ทรัพย์ทวีธรรมกล่าวถึงการส่งออกของไทยว่า “ทางรอดของการส่งออกไทยคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ในเรื่องของการปรับตัวให้ทันสถานการณ์ รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยให้เป็นกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมโดยมุ่งเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ และมุ่งสู่ Net Zero ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดแบบ Bio-Circular-Green’ Economy หรือ BCG ที่ประเทศไทยกำลังพยายามเดินไปในเส้นทางนี้อยู่แล้ว”

นอกจากนี้ นางอรมน ยังแนะนำเพิ่มเติมว่าภาคธุรกิจด้านการผลิตควรเตรียมความพร้อมเรื่องการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์   ซึ่งมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สามารถเป็นที่ปรึกษาในการประเมินเรื่องนี้  รวมทั้งเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย และซื้อขายคาร์บอนเครดิต  และสุดท้ายควรใช้ความพยายามในเรื่อง Climate Change มาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

“ทางรอดอีกทางหนึ่งคือแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยคาร์บอนฯ  ซึ่งตอนนี้ FTA ไม่ได้คุยเฉพาะเรื่องการเปิดตลาดสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการบริการและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ Climate Change ซึ่งบริษัทเอกชนของไทยควรศึกษาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจบริการให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น ส่วนผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือ SME ก็ควรจะต้องติดตามและเรียนรู้เทรนด์เรื่อง Climate Change ตามทิศทางของโลกเพื่อนำไปปรับใช้กับการวางแผนธุรกิจด้วย” นางอรมนกล่าวสรุป

Advertisment