กรมธุรกิจพลังงาน เผยจัดทำร่างแผน Oil Plan 2023 เสร็จแล้ว รอเปิดรับฟังความเห็นประชาชนและเสนอ ครม.ชุดใหม่อนุมัติ ระบุสาระสำคัญต้องลดชนิดน้ำมันลง โดยเหลือดีเซลเกรดเดียวที่ผสมน้ำมันปาล์มได้ระหว่าง 5-10% ส่วนกลุ่มเบนซินรอลุ้น E20 หรือแก๊สโซฮอล์ 95 เป็นเกรดพื้นฐาน ชี้แผนน้ำมันฯ จะก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan 2023) ว่า กรมธุรกิจพลังงานได้ร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงเสร็จเรียบร้อยแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างรอการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือ PDP ให้แล้วเสร็จ เพื่อนำมาเปิดรับฟังความเห็นประชาชนพร้อมกัน จากนั้นจึงจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ชุดใหม่พิจารณาเห็นชอบต่อไป
เบื้องต้นแผนน้ำมันฯ จะกำหนดให้ลดชนิดการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงลง โดยกลุ่มดีเซลจะเหลือเพียงดีเซลเกรดเดียวเท่านั้น (ปัจจุบันมีการจำหน่ายทั้งดีเซล, ดีเซล B7 และดีเซล B20 ) ซึ่งกรมฯ จะใช้วิธีกำหนดสัดส่วนการผสมน้ำมันปาล์มระหว่าง 5-10% ในดีเซลทุกลิตร และให้จำหน่ายในชื่อ “ดีเซล” อย่างเดียว
สำหรับน้ำมันกลุ่มเบนซิน จะให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 กลายเป็นน้ำมันพื้นฐาน ส่วนน้ำมันชนิดอื่นให้กลายเป็นน้ำมันทางเลือกแทน อย่างไรก็ตามหากการรับฟังความเห็นแล้วพบว่าประชาชนไม่เห็นด้วย ก็อาจจะถอยมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 ซึ่งจำหน่ายในชื่อ แก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นน้ำมันพื้นฐานแทนได้ อย่างไรก็ตามยืนยันว่า น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ก็ต้องปรับลดให้เหลือเพียงชนิดเดียวเท่านั้น
ทั้งนี้การปรับลดชนิดน้ำมันดังกล่าว เนื่องจากการจัดทำแผน Oil Plan ได้คำนึงถึงการสิ้นสุดมาตรการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ในปี 2569 ซึ่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะไม่สามารถนำเงินมาอุดหนุนราคาน้ำมันได้อีกต่อไป ดังนั้นการลดชนิดน้ำมันที่จำหน่ายในประเทศลง จะช่วยลดต้นทุนการผลิตและส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำมันในประเทศได้ดีขึ้น
นอกจากนี้การทำแผนน้ำมันฯ ได้คำนึงถึงการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ควบคู่ไปด้วย ซึ่งในช่วง 10 ปีแรกของแผน Oil Plan คาดว่าประชาชนยังคงนิยมใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์อยู่ แต่ในช่วง 10 ปีหลังของแผน Oil Plan หากภาครัฐสามารถบรรลุผลการส่งเสริมรถ EV ก็จะส่งผลให้การใช้น้ำมันในประเทศลดลง ดังนั้นจึงมีการกำหนดให้ส่งเสริมธุรกิจใหม่ (New Businesses) โดยการสนับสนุนการปรับตัวของโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมไปสู่โรงกลั่นชีวภาพ และนำไปสู่ปิโตรเคมีขั้นสูง โดยจะเป็นตัวกลางในการประสานการลงทุน ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้กว่า 34,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมการจัดทำแผน Oil Plan 2023 นี้ จะส่งผลดีต่อทั้งระบบห่วงโซ่น้ำมัน ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภคและ ภาคเกษตรกรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี