กฟผ. – Metlink ร่วมลงนาม CA มุ่งศึกษาเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีไครโอเจนิค

482
- Advertisment-

กฟผ. จับมือ Metlink ร่วมลงนามสัญญารักษาความลับในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีไครโอเจนิคหรือความเย็นยิ่งยวด (Cryogenic Carbon Capture) เล็งต่อยอดใช้งานกับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ตอบโจทย์ลดโลกร้อน

วานนี้ (20 มีนาคม 2567) นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน เป็นผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามสัญญารักษาความลับ Confidentiality Agreement (CA) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีไครโอเจนิค (Cryogenic Carbon Capture: CCC) กับนายประพันธ์ อัศวพลังพรหม กรรมการและประธานบริหาร ผู้แทนจาก บริษัท เมทลิงค์ อินโฟ จํากัด (Metlink Info Co.,Ltd) โดยมีนายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า กฟผ. และนายนิพนธ์ ลิ่มบุญสืบสาย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เมทลิงค์ อินโฟ จํากัด ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี

ทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ.

นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เป็นก้าวสำคัญในการขยายองค์ความรู้ด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กว้างขึ้น โดยการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีไครโอเจนิคหรือความเย็นยิ่งยวด Cryogenic Carbon Capture: CCC เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจ สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้ในอนาคต และเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ Triple S: Sink ของ กฟผ. ด้วยวิธี “การดักจับ ใช้ประโยชน์และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS)” ซึ่งจะตอบโจทย์แผน EGAT Carbon Neutrality ที่มีเป้าหมายเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 

- Advertisment -

นายประพันธ์ อัศวพลังพรหม กรรมการและประธานบริหาร ตัวแทนจาก บริษัท Metlink เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้ กฟผ. สามารถบรรลุเป้าหมายของ CCUS ด้วยต้นทุนที่ต่ำ โดยการดักจับคาร์บอนด้วยวิธีความเย็นยิ่งยวด เป็นเทคโนโลยีทางเลือกในการดักจับคาร์บอน และกำลังได้รับการพัฒนาเพื่อใช้งานในโรงไฟฟ้า สามารถแข่งขันได้ในเชิงต้นทุน และคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากการดักจับมีความบริสุทธิ์เกือบ 100% จึงมีศักยภาพที่จะนำไปใช้งานได้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และทางการแพทย์ เป็นต้น 

Advertisment