กฟผ. – GIZ ชูความสำเร็จกองทุน CIF ขยายเครือข่ายผลักดันนวัตกรรมทำความเย็นสีเขียว สู่เป้าหมาย Carbon Neutrality

198
- Advertisment-

กฟผ. ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เผยผลสำเร็จกองทุนนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทำความเย็น (CIF) และโครงการพัฒนาเครือข่ายการทำความเย็นสีเขียว (GCI) ระยะที่ 3 ผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นไทยก้าวสู่เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Mr. Hans-Ulrich Südbeck (ฮานส์ อูลริช ซูดเบค) อุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย พร้อมด้วยนายทีโม เมนนิเคน ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงานแถลงผลสำเร็จและสรุปการดำเนินงานกองทุนนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทำความเย็น (CIF) และโครงการพัฒนาเครือข่ายการทำความเย็นสีเขียว (GCI) ระยะที่ 3 ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย ณ สยามฮอลล์ ชั้น 6 โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ

นายฮานส์ อูลริช ซูดเบค อุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย

นายฮานส์ อูลริช ซูดเบค อุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ความสําเร็จของกองทุนนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทำความเย็น (CIF) และโครงการพัฒนาเครือข่ายการทำความเย็นสีเขียว (GCI) ระยะที่ 3 ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและประเทศไทย รวมถึงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและภาคเอกชน โครงการนี้ได้ส่งเสริมการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการใช้พลังงานและลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากอุตสาหกรรมการทำความเย็น ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานสูงและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก โดยการส่งเสริมแนวทางการทําความเย็นสีเขียวหลายมาตรการ อาทิ 1) การกํากับดูแล โดยช่วยเหลือประเทศพันธมิตรในการพัฒนาและดําเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2) การสนับสนุนกลไกทางการเงินเพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีการทำความเย็นที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 3) การสนับสนุนทางเทคนิค ด้วยการส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถและการแบ่งปันความรู้ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนี้ ความร่วมมือและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมในผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ R290 ถือเป็นก้าวสําคัญในการนําสารทําความเย็นธรรมชาติมาใช้ในประเทศไทย

- Advertisment -
นายเอกรัฐ สมินทรปัญญา ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ. ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุน CIF

นายเอกรัฐ สมินทรปัญญา ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ. ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุน CIF เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี หลังจาก กฟผ. และ GIZ ได้ต่อยอดความร่วมมือในอุตสาหกรรมด้านการทำความเย็นที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดยจัดตั้งกองทุน CIF ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในการผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นไทยให้ก้าวสู่เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ สนับสนุนการปรับปรุงห้องปฏิบัติการรองรับการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพพลังงานตู้แช่เย็น การรับรองผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ และการฝึกอบรมครูช่างและช่างฝีมือ รวมถึงการส่งเสริมและผลักดันตู้เย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 โครงการสาธิตตู้แช่เย็นพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการสนับสนุนการเปลี่ยนตู้แช่เชิงพาณิชย์และตู้แช่เย็นแสดงสินค้า โครงการส่งเสริมกระบวนการจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี ทั้งนี้ จากการดำเนินการของกองทุน CIF คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 40,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของไทยสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality

Advertisment