กฟผ.ได้สิทธิ์จัดหา LNG ระยะยาวป้อนโรงไฟฟ้าพระนครใต้โรงใหม่

2499
- Advertisment-

กฟผ.กับปตท.ได้ข้อยุติในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาว ฉบับใหม่ (สัญญา Global DCQ) ระหว่างกันแล้ว ภายใต้เงื่อนไขที่จะแบ่งสัดส่วนให้กฟผ.เป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ในสัญญาระยะยาวได้เองในส่วนของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ที่สร้างใหม่(ทดแทนโรงเดิม) กำลังการผลิตรวม 2,100เมกะวัตต์ ที่จะจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2569และ2570  ในขณะที่โรงไฟฟ้าสร้างใหม่โรงอื่นๆ ของ กฟผ. จะให้ปตท.เป็นผู้จัดหาเชื้อเพลิงระยะยาว เพื่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ โดยจะมีนัดประชุมบอร์ดกฟผ. 26 ธ.ค. 2562 นี้

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานในฐานะประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า  การเจรจาในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวฉบับใหม่ หรือสัญญาGlobal DCQ  ระหว่าง กฟผ.และ ปตท. เพื่อสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้กับประเทศ ในระยะยาวนั้น  สามารถได้ข้อยุติแล้ว  โดยกำหนดจะมีการประชุมบอร์ดกฟผ.เพื่อสรุปความชัดเจนในสัญญาดังกล่าววันที่ 26 ธ.ค.2562 นี้  ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน( กบง.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2562  ที่ให้ กฟผ.และปตท.เจรจาสัญญาGlobal DCQ ให้ได้ข้อยุติภายในสิ้นปี 2562 ก่อนที่สัญญาฉบับเดิมที่มีการขยายอายุสัญญาจะสิ้นสุดลงภายในเดือนธ.ค.2562 นี้

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สัญญา Global DCQ ซึ่งเป็นสัญญาหลักในการซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ในระยะยาว ระหว่าง กฟผ.และ ปตท.นั้นได้สิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ กฟผ. และ ปตท. ได้มีการพิจารณาต่อสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะสั้นเป็นรายปีมาแล้ว 4 ครั้ง  ซึ่งทำให้ ปตท.มีความยุ่งยากในการบริหารจัดการก๊าซเพื่อความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ เนื่องจากยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญาระยะยาวฉบับใหม่ระหว่างกัน   โดยนายกุลิศ กล่าวว่า สัญญา Global DCQ ฉบับใหม่นี้จะเป็นสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวระหว่างกฟผ.และปตท. ที่จะให้ปตท.เป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้าของกฟผ. ในส่วนที่เป็นโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงของประเทศ

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม ในบทบาทใหม่ที่ กฟผ.ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ  LNG Shipper แล้ว  ในด้านนโยบายจะมีการแบ่งสัดส่วนให้ กฟผ.เป็นผู้จัดหาLNG เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าของกฟผ. ได้เองด้วย  โดยเฉพาะในโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ที่จะมีการสร้างใหม่ เพื่อทดแทนโรงเดิม   ในขณะที่โรงไฟฟ้าหลักของกฟผ. แห่งอื่นๆ รวมทั้งโรงไฟฟ้าที่เกี่ยวกับความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ นั้น ทาง ปตท.จะยังเป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาวให้ กฟผ.

นายกุลิศ  ยังกล่าวด้วยว่า ได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับฝ่ายบริหาร กฟผ. และ สหภาพแรงงาน กฟผ.แล้ว ถึงมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 16ธ.ค.2562 ที่ให้ยกเลิกการประมูลนำเข้าLNG ของกฟผ.ในปริมาณไม่เกิน 1.5ล้านตันต่อปี ที่กฟผ.ดำเนินการไปแล้ว  เนื่องจากความต้องการใช้ก๊าซในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ และจะทำให้เกิดปัญหา take or pay ที่กระทบต่อค่าไฟฟ้า 2สตางค์ต่อหน่วย

อย่างไรก็ตามได้ให้ฝ่ายกฏหมายของกฟผ.ไปศึกษาดูข้อกฏหมายเกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของ กฟผ. ว่ากรณีที่ ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลจัดหาLNG ปริมาณไม่เกิน1.5ล้านตันต่อปี  ยินยอมยืนราคาขายเดิมเอาไว้ให้กฟผ. 8ปี เพื่อให้ กฟผ.สามารถกำหนดระยะเวลานำเข้าLNG ที่เหมาะสมได้เมื่อมีความต้องการใช้  โดยไม่ต้องเปิดประมูลใหม่ จะสามารถทำได้หรือไม่    ซึ่งถ้ากฟผ.ไม่สามารถทำได้ ก็จำเป็นจะต้องแจ้งยกเลิกการประมูล ตามที่กพช.มีมติ  ยกเลิกปริมาณการจัดหาLNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ของกฟผ.

ทั้งนี้ ในการประมูลLNGแบบspot ทั้ง2ลำเรือในปริมาณลำเรือละ65,000 ตัน ของ กฟผ .ซึ่งจะส่งมอบในวันที่ 28ธ.ค.2562และ เม.ย.2563  แม้จะได้รายเดิมคือ ปิโตรนาสแอลเอ็นจี เป็นผู้ชนะประมูล แต่ ก็ได้ราคา 5.32 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งต่ำกว่า สัญญาระยะกลาง ในปริมาณไม่เกิน 1.5ล้านตัน ระยะเวลา8 ปี ในราคาเฉลี่ย 7.32 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ที่กฟผ.ประมูลได้ก่อนหน้านี้    จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค  ที่ไม่ทำให้ภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น   โดยหลังจาก ที่ กฟผ.มีการลงนามในสัญญา Global DCQ  กับปตท.แล้ว กระทรวงพลังงาน จะมีการพิจารณาร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า  การจัดหาLNG ในส่วนที่กฟผ. เป็น shipper  ครั้งต่อไป จะจัดหาในปริมาณเท่าไร  ในปีไหน และเป็นรูปแบบสัญญาใด ทั้งที่เป็นแบบspot แบบสัญญาระยะกลาง หรือสัญญาระยะยาว

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า  สำหรับโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงใหม่ ที่จะสร้างทดแทนโรงเดิมซึ่งปลดระวางนั้น  ตามนโยบายจะให้ กฟผ.เป็นผู้จัดหา LNG ในสัญญาระยะยาว ได้เอง โดย ตามแผน พัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือ PDP2018นั้น จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี2569 ขนาด700 เมกะวัตต์ และในปี 2570อีก 1,400เมกะวัตต์  รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 2,100เมกะวัตต์ คิดเทียบเท่าปริมาณ LNG ที่ต้องจัดหาประมาณ 5ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ตาม หากมีการลงนามในสัญญา Global DCQ ตามเงื่อนไขข้อตกลงดังกล่าว  ปตท.จะได้สิทธิในการซัพพลายก๊าซระยะยาว ในโรงไฟฟ้าใหม่ของ กฟผ. ทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ที่จะเข้าระบบในปี 2570ขนาดกำลังการผลิต700เมกะวัตต์ และปี2572อีก 700เมกะวัตต์  รวมทั้ง โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ(ส่วนเพิ่ม)ในปี2571 อีก700เมกะวัตต์   โรงไฟฟ้าน้ำพอง ในปี 2573 อีก 700เมกะวัตต์ และปี 2575อีก700เมกะวัตต์   นอกจากนี้ ในส่วนโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก คือโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง 1และ2 กำลังการผลิตรวม1,400เมกะวัตต์ ของ ราช กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกฟผ.  ที่ถือเป็นโรงไฟฟ้าเพื่อ ความมั่นคง  หลังจากการลงนามในสัญญา Global DCQ ระหว่างกฟผ.และ ปตท.แล้ว  ราช กรุ๊ป ก็จะต้องลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซ กับทาง ปตท. ด้วย หลังจากที่โครงการดังกล่าว มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ. มาตั้งแต่ เดือน พ.ค.2562แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซกับรายใด

Advertisment