กฟผ.ใช้ “โคก หนอง นา” ผสานโรงไฟฟ้าชุมชน นำร่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

4216
- Advertisment-

กฟผ.ขานรับนโยบายกระทรวงพลังงาน นำแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา “โคก หนอง นา” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ผุดโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็กนำร่อง 7 พื้นที่ใกล้เขื่อน กฟผ. และ 3 โรงไฟฟ้า พร้อมนำร่อง ”แม่แจ่มโมเดล” ในขณะที่ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ คือความร่วมมือของคนในชุมชน

หนึ่งในนโยบายสำคัญของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน คือเรื่อง พลังงานเพื่อคนทุกคน หรือ “energy for all” ที่มีเป้าหมายให้โครงการด้านพลังงานเข้าไปช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ออกมาขานรับนโยบายดังกล่าว โดยเตรียมแผนพัฒนา 7 พื้นที่ใกล้เขื่อนกฟผ.และอีก 3 โรงไฟฟ้า เป็นโครงการนำร่อง ประกอบด้วย เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนสิรินธร โรงไฟฟ้าแม่เมาะ โรงไฟฟ้าวังน้อย และโรงไฟฟ้าบางปะกง

โดยในการพาคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา กฟผ. พบว่าวิถีชีวิตของคนอำเภอแม่แจ่มซึ่งบุกรุกที่ป่าสงวนเพื่อทำไร่ข้าวโพดมาเป็นเวลานานนั้น จะไม่สามารถปลดหนี้ของตัวเองได้ด้วยการปลูกข้าวโพดอีกต่อไป เพราะหนี้ที่มีสะสมรวมกันกว่า 2,400 ล้านบาทนั้น หากไม่ใช้แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา “โคก หนอง นา” ผสมผสานไปกับโรงไฟฟ้าชุมชน และการพักชำระหนี้เอาไว้เป็นการชั่วคราวสักระยะ คนที่อยู่ในอำเภอแม่แจ่มซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ข้าวโพด ก็จะไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เลย และนั่นจึงเป็นที่มาของ “แม่แจ่มโมเดล” ที่รัฐมนตรีพลังงานประกาศบอกกับคนแม่แจ่ม และมอบให้ กฟผ. ทำเป็นโครงการนำร่องที่แม่แจ่ม และขยายผลไปยังพื้นที่เป้าหมายใกล้เขื่อน กฟผ.และอีก 3 โรงไฟฟ้า

- Advertisment -

     

ในแนวทาง “โคก หนอง นา” เป็นการเปลี่ยนการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรให้สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ และสังคม (วัฒนธรรม ท้องถิ่น) โดยแบ่งพื้นที่ เป็นสัดส่วน 30 : 30 : 30 : 10 ดังนี้ 30% สำหรับ เป็นแหล่งน้ำ โดยการขุดบ่อทำหนองน้ำและคลองไส้ไก่ เพื่อให้มีแหล่งน้ำไว้ใช้ในยามจำเป็น อีก 30% สำหรับ ทำนา ปลูกข้าว เป็นแหล่งอาหารเลี้ยงตัวเอง อีก 30% สำหรับ ทำโคกหรือป่า ดยเป็นการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ปลูกไม้ใช้สอย ไม้กินได้และไม้เศรษฐกิจ เพื่อให้ได้ประโยชน์ คือ 1. พอกิน คือ มีผัก มีอาหารไว้กิน 2. พออยู่ คือ สามารถตัดไม้ไปสร้างบ้าน ทำที่อยู่ได้ 3. พอใช้ คือ มีไว้ใช้สอยในครัวเรือน ใช้เป็นยาและสมุนไพร ใช้เป็นฟืน เป็นเครื่องมือใช้ สอยในบ้าน 4. พอร่มเย็น มีความสมบูรณ์ และความร่มเย็น และพื้นที่อีก10% แบ่งไว้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย

อย่างไรก็ตาม การนำศาสตร์พระราชา “โคก หนอง นา” มาใช้ที่ อ.แม่แจ่ม กฟผ. มองว่าจะต้องเป็นการประยุกต์ใช้แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเบื้องต้นเป็นการเชิญชวนให้ชาวไร่ข้าวโพดลองเปลี่ยนพื้นที่ 30% เดิมมาปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ไม้โตเร็ว กระถิน หรือ ไผ่ ซึ่งใช้เวลาปลูกไม่นาน สามารถตัดส่งเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะตั้งขึ้นใหม่ โดยได้ราคาดีกว่าซังข้าวโพด ซึ่งจะทำให้ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการปลูกข้าวโพดเพื่อขายฝักไปทำอาหารสัตว์ ซึ่งสร้างรายได้ไม่เพียงพอใช้คืนหนี้

จากนั้นในขั้นต่อไป จึงค่อยเปลี่ยนพื้นที่อีก 30% มาทำนาปลูกข้าว เพื่อให้มีแหล่งอาหาร ทำให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และด้วยวิธีการแบบนี้ กฟผ. เชื่อว่าชาวแม่แจ่มยังพอจะมีทางออกในการยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น โดยคอนเซ็ปต์ “แม่แจ่มโมเดล” โรงไฟฟ้าชุมชน จะเป็นเพียงแค่หนึ่งในกลไกที่จะมาช่วยเพิ่มรายได้ที่ยั่งยืนให้คนแม่แจ่มเท่านั้น

ในขณะที่พื้นที่ใกล้เขื่อน กฟผ.ทั้ง 7 เขื่อนและใกล้โรงไฟฟ้า 3 แห่งนั้น กฟผ.จะนำศาสตร์พระราชา “โคก หนอง นา” มาส่งเสริมให้ชุมชนเป้าหมายมาบริหารจัดการพื้นที่เต็มรูปแบบ รวมทั้งจะมีพื้นที่ในการเลี้ยงหมู ปลูกหญ้าเนเปียร์ และมีโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ โดยหญ้าเนเปียร์ที่ปลูกเมื่อนำมาหมักรวมกับมูลสัตว์จะทำให้เกิดก๊าซชีวภาพ ซึ่งก๊าซชีวภาพที่ได้จะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งนี้ ในเป้าหมายที่ตั้งไว้ ชุมชนที่มีการบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าวจะมีแหล่งอาหารที่เลี้ยงตัวเองได้ อีกทั้งจะมีรายได้จากการขายหญ้าเนเปียร์เป็นเชื้อเพลิง และรายได้จากการเข้าไปมีหุ้นและได้รับปันผลจากโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็กที่ตั้งขึ้น

แนวนโยบายและวิธีปฏิบัติที่มีการวางเอาไว้ในการเข้าไปช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากนั้น ในส่วนของ กฟผ.มีความพร้อมในส่วนขององค์ความรู้และเงินลงทุนแล้ว แต่ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้โครงการนำร่องของ กฟผ.ประสบความสำเร็จ คือ ความเข้าใจและความร่วมมือจากคนในชุมชนรวมทั้งหน่วยงานราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง คำตอบจึงอยู่ที่ชุมชนว่า จะขานรับจริงจังกับ energy for all ของรัฐมนตรีสนธิรัตน์ กันแค่ไหน!

Advertisment