กฟผ.โชว์งานวิจัย ติดตั้งโซลาร์เซลล์กึ่งใสในนาข้าว ได้พลังงานใช้ ไร้ผลกระทบ

4270
- Advertisment-

กฟผ. โชว์งานวิจัย ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กึ่งใสในนาข้าว ระบุไม่มีผลกระทบต่อผลผลิตและระยะเวลาการเติบโตของต้นข้าว แถมได้พลังงานไฟฟ้ามาช่วยลดรายจ่ายให้กับเกษตรกรด้วย

งานนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยดังกล่าว จัดขึ้นในวันนี้ (4 เมษายน 2562) ภายใต้ชื่อ“นวัตกรรมปันแสงแบ่งข้าวเพื่อชุมชน” โดยมี นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร กฟผ. นำโดย นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผศ.ดร.สุรเชษฐ เดชฟุ้ง หัวหน้าโครงการฯ ณ สวนน้ำพระทัย โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี  ซึ่งเป็นพื้นที่ทดลองโครงการ

วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ.(ซ้าย) และ ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (ขวา)

 นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า  โครงการวิจัยการใช้โซลาร์เซลล์กึ่งใสร่วมกับการทำเกษตรกรรม ในครั้งนี้ ทางกฟผ.ดำเนินการร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และกรมพัฒนาที่ดิน  โดยเลือกใช้พันธุ์ข้าวไรซ์เบอรี่ ที่กำลังเป็นที่นิยมมาทดลองปลูก

- Advertisment -

โดย พลังงานไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์ในโครงการวิจัย จะถูกส่งไปใช้ที่ห้องควบคุมไฟฟ้าและเครื่องสูบน้ำของโครงการวิจัย รวมถึงใช้ในอาคาร Co-Working Space ของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือซึ่งนับตั้งแต่เริ่มโครงการในเดือนพฤศจิกายน 2561 จนถึงปัจจุบัน สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 18,000 หน่วย และลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 72,000 บาท

ซึ่งจากผลการวิจัย ชี้ให้เห็นว่า เกษตรกรสามารถที่จะนำโซลาร์เซลล์กึ่งใสมาใช้ในพื้นที่นาข้าว หรือกิจกรรมทางการเกษตรอื่นๆ หรือใช้ในบ้านเรือนได้  โดยกฟผ. ยังมีแนวทางพัฒนาต่อยอดใช้ในการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ที่มีมูลค่าสูง สำหรับชุมชน เกษตรกรรม และโรงเรียน รวมถึงเป็นต้นแบบการพัฒนาไปสู่ระบบฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm) ในอนาคตอีกด้วย

ภาพส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยการนำโซลาร์เซลล์กึ่งใสมาใช้กับเกษตรกรรมการปลูกข้าว

ผศ.ดร.สุรเชษฐ เดชฟุ้ง หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการวิจัยการนำโซลาร์เซลล์กึ่งใสมาใช้กับเกษตรกรรมการปลูกข้าว มีการออกแบบแผงโซลาร์เซลล์กึ่งใสให้มีลักษณะเป็นตารางหมากรุกสลับกับช่องใส โดยใช้โซลาร์เซลล์กึ่งใสที่ทำจากซิลิคอนชนิดผลึกรวม (Polycrystalline Silicon Solar Cell) จำนวน 227 แผง ให้พลังงานไฟฟ้า 155 วัตต์ต่อแผง กำลังผลิตติดตั้ง 35.19 กิโลวัตต์ วางแผงโซลาร์เซลล์ทำมุม 17 องศา หันรับแสงทางทิศใต้ ความสูงประมาณ4 เมตร  โดยอาศัยหลักการปรับอัตราส่วนพื้นที่ทึบแสงต่อพื้นที่โปร่งแสงในแผ่นโซลาร์เซลล์ตามความต้องการความเข้มแสงที่แตกต่างกันของพืช พร้อมติดตั้งระบบติดตามข้อมูลด้วยเซนเซอร์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตแบบ Real Time ได้แก่ ตัววัดค่าความเข้มแสง อุณหภูมิ ความชื้นอากาศ ความเร็วลม ระดับน้ำ ความแข็งแรงของโครงสร้าง และ Power Flow

จากการวิจัยพบว่า การใช้ โซลาร์เซลล์กึ่งใสกับการปลูกข้าวพันธุ์ไรซ์เบอรี่  ไม่มีผลกระทบต่อผลผลิตและระยะเวลาในการปลูก ที่แตกต่างไปจากระบบการปลูกปกติ  โดยนับตั้งแต่การปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว จะใช้เวลาประมาณ 130 – 150 วัน

นอกจากนี้ การปลูกข้าวในโครงการวิจัยดังกล่าวยังใช้ วิธีการปลูกแบบออแกนิคทั้งหมด ได้แก่ การใช้กากชาในการกำจัดหอยเชอรี่ ฉีดพ่นสารสะเดาเพื่อป้องกันแมลงและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ฉีดพ่นฮอร์โมนไข่เพื่อบำรุงต้นข้าวให้สมบูรณ์แข็งแรง ใช้ปุ๋ยหมักในการบำรุงดิน ไล่นกโดยใช้ระบบคลื่นเสียง ไล่หนูด้วยวิธีควบคุมระดับน้ำให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อป้องกันหนู  ที่ทำให้สามารถรับประทานผลผลิตได้อย่างปลอดภัย

Advertisment