การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งสัญญาณขอติดหนี้ค่าเชื้อเพลิง ปตท. หลังแบกภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนตามนโยบายรัฐกว่า 6 หมื่นล้านแล้ว โดยหากไม่มีการปรับขึ้นค่าเอฟทีในงวด ก.ย-ธ.ค.65 ภาระที่ กฟผ.แบกไว้จะสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท ในขณะที่ แหล่งข่าวในคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ระบุการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า Ft งวดปลายปี2565 นี้จะช่วยลดภาระ กฟผ. ได้เพียงส่วนหนึ่ง โดยหากค่าเชื้อเพลิงในอนาคตปรับลดลงก็พร้อมเก็บเงินคืนให้ กฟผ. ได้ทันที
แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยถึงกรณีที่ภาครัฐขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ช่วยตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) ตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา จนส่งผลให้ กฟผ. แบกรับภาระค่าไฟฟ้าเกือบ 6 หมื่นล้านบาท และอาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในการจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติ ว่า ที่ผ่านมา กฟผ.ดำเนินการตรึงค่า Ft ตามนโยบายรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยให้ประชาชนจ่ายค่า Ft ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง และส่วนที่เหลือ กฟผ.แบกรับภาระไว้ก่อน จนกว่าค่าไฟฟ้าจะถูกลงและภาครัฐจะเก็บค่าไฟฟ้าคืนให้กับ กฟผ.ในภายหลัง
โดยมาตรการดังกล่าวเริ่มในช่วง Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2564 ซึ่ง กฟผ. แบกรับภาระค่าไฟฟ้าประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท และในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 กฟผ.แบกภาระอีกกว่า 2 หมื่นล้านบาท รวมเป็นภาระที่ กฟผ.แบกรับไว้ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งการขอให้ตรึงค่า Ft ดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างภาครัฐกับ กฟผ.โดยตรง และเป็นเงินนอกกรอบบริหารค่าไฟฟ้าที่ กกพ. ดูแลอยู่ ดังนั้น กกพ. ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือทางด้านการเงินได้
อย่างไรก็ตามแนวทางแก้ไขปัญหาของ กฟผ.ในขณะนี้คือ ต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งที่ผ่านมา กกพ. ได้มีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) เพื่อขอให้ดูแลด้านการเงิน กฟผ. หลังจากที่ กฟผ.ได้ดำเนินการตามนโยบายภาครัฐที่ผ่านมาแล้ว ทั้งนี้การขอกู้เงินเสริมสภาพคล่องของ กฟผ. นั้นจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก่อน ซึ่ง กฟผ.จะต้องขอความเห็นจาก กกพ. ด้วย และ กกพ. ก็พร้อมให้การช่วยเหลือด้านเอกสารตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการขออนุมัติกู้เงินต่อไป
ทั้งนี้ยอมรับว่า กกพ. จะมีเงินเข้ามาทุกปีประมาณ 4-5 พันล้านบาท จากกรณีการไฟฟ้าไม่ลงทุนตามแผน,ค่าปรับต่างๆ รวมถึงกำไรที่การไฟฟ้าได้รับเกินจากผลตอบแทนการลงทุนที่รัฐกำหนดไว้ หรือเรียกรวมว่าเงินบริหารจัดการค่าไฟฟ้า ซึ่งเงินส่วนนี้ปกติจะจ่ายคืนกระทรวงการคลัง หรือนำมาดูแลค่าไฟฟ้าประชาชน โดยหากปี 2565 นี้มีเงินเข้ามา 4-5 พันล้านบาทตามปกติ ก็จะนำมาเกลี่ยผลตอบแทนการลงทุนระหว่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งหากยังเหลือเงินก็จะพิจารณาช่วยคืนให้กับ กฟผ.ด้วย
นอกจากนี้ค่าไฟฟ้างวดปลายปี 2565 ก็จะต้องปรับขึ้นตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่แพงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระ กฟผ.ลงได้ส่วนหนึ่ง เพราะหากไม่ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเลย กฟผ.จะต้องแบกรับภาระหนักเกินไป และขาดสภาพคล่องมากขึ้นอีก อย่างไรก็ตามในอนาคตหากราคาค่าไฟฟ้าปรับลดลง ก็จำเป็นต้องอาศัยช่วงเวลาดังกล่าวเก็บค่าไฟฟ้าคืนให้กับ กฟผ. ด้วยเช่นกัน
ส่วนกรณีแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ ต้องใช้เวลา 1-2 ปีกว่าจะกลับมาผลิตก๊าซฯ ได้เต็มประสิทธิภาพตามสัญญาที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันผลิตได้ประมาณ 350 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากผู้รับสัมปทานรายเดิมไปสู่ระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC) ของผู้ผลิตรายใหม่ ประกอบกับราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ตลาดโลกมีราคาสูงหลังได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดังนั้นการตรึงค่าไฟฟ้าจึงไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม เนื่องจากปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน 1-2 ปี และ กกพ. ไม่มีเงินเพียงพอจะช่วยตรึงค่าไฟฟ้า ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องพิจารณาปรับขึ้นค่า Ft งวดปลายปี 2565 (ก.ย.-ธ.ค. 2565) แต่ กกพ. จะปรับขึ้นโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน และธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าจะต้องอยู่รอดด้วย เพื่อความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนต่อไป
ด้านแหล่งข่าวจาก กฟผ. เปิดเผยว่า หากการพิจารณาค่าไฟฟ้าส่วนค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 นี้ไม่มีการปรับขึ้นตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่แท้จริง และรัฐยังมีนโยบายให้ กฟผ.รับภาระค่า Ft แทนประชาชนเพิ่มขึ้นอีก จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของ กฟผ.เป็นอย่างมาก เพราะตัวเลขของต้นทุนค่าเอฟทีจริงที่ประเมินไว้และต้องเป็นภาระต่อ กฟผ.ที่จะต้องแบกแทนประชาชนไปก่อน จะสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท
ในขณะที่ ภาระค่า Ft ที่ กฟผ.แบกไว้อยู่ในปัจจุบัน ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของ กฟผ. ที่กำลังมีการเจรจาขอติดหนี้ค่าเชื้อเพลิงกับ ปตท. ที่ กฟผ.ต้องจ่ายทุกเดือน และต้องการให้รัฐช่วยดูแลให้ ปตท.ช่วยคิดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมมากกว่านี้ ในฐานะที่ทั้งสององค์กรต่างเป็นรัฐวิสาหกิจในการกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานที่ต้องทำหน้าที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ