กฟผ.เสนอแผนเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะไปถึง ปี 68 หวังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชน

1466
- Advertisment-

กฟผ.เสนอแผนเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะไปถึงปี 68 หวังช่วยลดผลกระทบค่าไฟฟ้าจากต้นทุนLNG นำเข้าราคาแพง

แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง​ประเทศไทย​(กฟผ.)​เปิดเผยว่า กฟผ.ได้เสนอแผนการเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำ ให้กระทรวงพลังงานพิจารณาเลื่อนการปลดระวางไปจนถึงปี 2568 ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 8, 9,10, 11,12,13 กำลังการผลิตรวมประมาณ 1,740 เมกะวัตต์
จากที่ปัจจุบัน มีการเลื่อนปลดระวางเพียงโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 8 กำลังการผลิต 270 เมะกะวัตต์ ออกไปแค่ปีเดียว คือจากที่จะต้องปลดออกจากระบบในวันที่ 1 ม.ค.2565 เลื่อนเป็น 31 ธ.ค. 2565

โดยเหตุผลที่ กฟผ.เสนอขออนุมัติเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะดังกล่าวออกไปถึงปี 2568 เนื่องจากถึงแม้จะเป็นโรงไฟฟ้าเก่าแต่ใช้ถ่านหินลิกไนต์ที่มีแหล่งผลิตในประเทศ ทำให้มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ต่ำกว่า การนำเข้าLNG มาผลิตไฟฟ้า

- Advertisment -

จากการคำนวณเบื้องต้น ในราคาถ่านหินลิกไนต์ที่ประมาณ 800-900 บาทต่อตัน คิดเป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ( คิดเฉพาะค่าเชื้อเพลิง )​ อยู่ที่ประมาณ 80 -​90 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น เปรียบเทียบกับ LNG ที่ราคา 30 เหรียญ​สหรัฐต่อล้านบีทียู จะคิดเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ประมาณ 6 บาทต่อหน่วย

แหล่งข่าว กล่าวว่า การเลื่อนปลดระวางโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อให้เดินเครื่องผลิตได้ต่อเนื่อง สามารถที่จะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ทันที เพราะโรงไฟฟ้าแม่เมาะโรงใหม่ที่จะมาทดแทนโรงเดิม หน่วยที่ 8 และ 9 กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 65 ที่ผ่านมานั้น จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2569

โดยในปี 2565 -​67 ยังเป็นช่วงที่การผลิตก๊าซจากแหล่งG1/61(แหล่งเอราวัณ)​จะไม่สามารถผลิตก๊าซได้ตามสัญญาขั้นต่ำที่ 800 ล้านลูกบาศก์​ฟุตต่อวัน และต้องมีการนำเข้าLNGเข้ามาทดแทนก๊าซจากอ่าวไทยที่หายไป ดังนั้นการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินลิกไนต์ มาช่วยทดแทนLNGนำเข้า ที่มีราคาแพงได้ส่วนหนึ่ง จะเป็นการช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าส่วนค่าเอฟทีให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าได้

อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวจะต้องรอให้ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน( สนพ.) เป็นผู้พิจารณาเพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป

Advertisment