กฟผ.เร่งเคลียร์ข้อกฏหมายที่เป็นอุปสรรคก่อนลงสนามแข่งกับ IPP

1837
- Advertisment-

กฟผ.เร่งเคลียร์กฏหมายที่เป็นอุปสรรค ปรับลดขนาดองค์กร พร้อมแข่ง IPP ตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือ PDP2018

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือ PDP2018  ที่จะเปิดให้ กฟผ. ต้องแข่งขันกับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) เพื่อ สร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เขื้อเพลิงหลัก ว่า กฟผ. มีการเตรียมความพร้อมในส่วนของการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฏหมายที่เป็นอุปสรรคให้เกิดความคล่องตัว รวมทั้งการปรับขนาดองค์กร ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยวิธีการรับพนักงานเพิ่มเฉพาะในสายงานที่จำเป็นเพื่อทดแทนพนักงานที่เกษียณอายุ

ทั้งนี้ ในส่วนของการแข่งขันกับ IPP จะมีทั้งส่วนที่ กฟผ. มีความได้เปรียบ และส่วนที่เสียเปรียบ โดยต้องนำต้นทุนค่าไฟฟ้าของ IPP ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. มาวิเคราะห์ รวมทั้งจะต้องมีการหารือกันว่า กฟผ. จะแข่งขันเอง หรือจะให้บริษัทลูกของ กฟผ. ทั้งบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก้ กรุ๊ป เป็นผู้แข่งขันแทน อย่างไรก็ตาม จะต้องรอดูความชัดเจนในนโยบายและกติกาการแข่งขันด้วย

- Advertisment -

สำหรับในส่วนของโรงไฟฟ้าสุราษฏร์ธานี จำนวน 2 โรง โรงละ 700 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ที่จะมาทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ และเทพา โดยไม่ต้องประมูลแข่งกับเอกชนนั้น นายวิบูลย์ กล่าวว่า กฟผ. จะเริ่มกระบวนการก่อสร้างหลังจากที่ PDP2018 มีการประกาศใช้แล้ว

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า ร่างแผน PDP2018 จะมีการเปิดให้โรงไฟฟ้าเอกชน IPP แข่งขันกับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง จำนวน 13,156 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าหลักที่ยังไม่กำหนดประเภทเชื้อเพลิงแข่งขันระหว่าง กฟผ. กับ IPP จำนวน 8,300 เมกะวัตต์

โดยการเปิดให้ IPP แข่งขันที่เร็วที่สุดนั้น จะอยู่ที่โซนภาคตะวันตก ที่จะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2566 และ 2567 กำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งหมายความว่า ในปี 2562 กระทรวงพลังงานจะต้องมีความชัดเจนเรื่องนโยบายการซื้อไฟฟ้าในส่วนนี้

Advertisment