(ขวา) นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟผ. - Project Management Office
- Advertisment-

ในปี 2565 เทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มาแน่ !!! เมื่อรัฐบาลประกาศเตรียมมอบของขวัญปีใหม่ให้คนไทยด้วยการสนับสนุนทั้งการผลิตและการใช้รถ EV เต็มที่ และตลอด 2-3 ปี ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและเอกชนต่างขานรับนโยบายส่งเสริมการใช้รถ EV ในประเทศไทย โดยเร่งสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า รองรับสังคมใหม่ในอนาคตที่จะเต็มไปด้วยรถ EV บนท้องถนนแทนรถที่ใช้น้ำมัน โดยปัจจุบันมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าเกือบ 200 จุด ให้ใช้บริการแล้วทั่วประเทศ

การสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถ EV ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงให้สังคมหันมาใช้รถ EV ได้ในอนาคต การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จึงกระโดดเข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญหนึ่งในการจุดพลุสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้ารถ EV ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้เพียงพอ จนทำให้ผู้ใช้รถรู้สึกมั่นใจที่จะเปลี่ยนมาใช้รถ EV และเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้และผลิตรถ EV ในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย

นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟผ. (Project Management Office) ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจสร้างสถานนีอัดประจุไฟฟ้ารถ EV ของ กฟผ. ภายใต้ชื่อสถานี “EleX by EGAT” เปิดเผยว่า ในปี 2565 กฟผ. มีแผนจะลงทุนกว่า 160 ล้านบาท เพื่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มอีก 50-60 แห่ง จากปี 2564 ที่มีอยู่แล้ว 45 แห่ง ดังนั้น ในปี 2565 จะได้เห็นสถานี EleX by EGAT ที่มีมากกว่า 100 สถานีบนถนนไฮเวย์และบนพื้นที่สำคัญที่ผู้คนนิยมไปใช้เวลาทำกิจกรรมและพักผ่อนหย่อนใจ เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามกอล์ฟ และโรงพยาบาล เป็นต้น

- Advertisment -

ปัจจุบันสถานี EleX by EGAT  ที่มีอยู่ แบ่งเป็น กลุ่มบนถนนไฮเวย์ ที่ กฟผ. ทำร่วมกับค่ายน้ำมันพีที (PT) ติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าในปั๊มน้ำมันพีทีแล้ว 5 แห่ง และในเดือนธันวาคม 2564 นี้จะเปิดอีก 14 แห่ง ทั้งเชียงใหม่ ขอนแก่น บุรีรัมย์ นนทบุรี ระยอง บางสะพาน หาดใหญ่ และเตรียมเปิดที่หัวหิน ในมาร์เก็ตวิลเลจ หัวหิน ในวันที่ 17 ธ.ค. 2564  รวมถึงมีแผนจะเปิดเพิ่มอีกในเดือน พ.ค. 2565 ประมาณ 17 แห่ง  เบื้องต้น กฟผ. กำหนดติดตั้งสถานีในระยะ 150-200 กิโลเมตรต่อสถานี เนื่องจากมองว่าเป็นระยะทางที่ผู้ขับรถจะจอดพักรถและผ่อนคลายทุกๆ 2 ชั่วโมง ซึ่งในอนาคตถ้ารถ EV มากขึ้นอาจมีจุดชาร์จตามความต้องการของลูกค้าต่อไป

นอกจากนี้ กฟผ. ได้ติดตั้ง EleX by EGAT บนพื้นที่โรงพยาบาลเป็นครั้งแรก คือโรงพยาบาลกรุงเทพ-พัทยา  (BDMS) ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อ 13 พ.ย. 2564  และในเดือน ธ.ค. 2564 นี้จะติดตั้งเพิ่มที่มิดวินเทอร์ เขาใหญ่ แบบ Fast Charger ขนาด 120 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

และในกลุ่มชุมชนเมือง หรือ In town นั้น ล่าสุด กฟผ.ได้ ติดตั้ง EleX by EGAT ในพื้นที่กระทรวงการคลัง ไปเมื่อ 25 พ.ย. 2564 เพื่อทำเป็นโมเดลต้นแบบการทำสถานีชาร์จในสถานที่ราชการหรือรัฐวิสาหกิจอื่นๆต่อไป นอกจากนี้เตรียมเปิดตัว EleX by EGAT ที่ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต กับบริษัทเช่ารถ Haupcar  พื้นที่ในเครือโฮมโปร และเครือ MBK รวมถึง ริเวอร์เดล กอล์ฟ คลับ และในไตรมาสแรกปี 2565 จะติดตั้งที่ อาคารจอดรถของรถไฟฟ้า ซึ่งกลุ่ม In town จะเป็นหัวชาร์จแบบ Normal charge  ใช้เวลาประมาณ 2 ชม.

“ไลฟ์สไตล์การชาร์จไฟฟ้าของผู้ใช้รถ EV กำลังเปลี่ยนไป จากเดิมนิยมชาร์จในปั๊มน้ำมัน  ก็จะเปลี่ยนเป็นการชาร์จไฟฟ้าระหว่างเข้าใช้บริการสถานที่ต่างๆ ตามจุดหมายปลายทาง เพื่อใช้เวลาอย่างคุ้มค่ามากขึ้น นอกจากนี้ มีตัวอย่างในต่างประเทศที่นิยมชาร์จไฟฟ้ารถ EV ที่บ้านถึง 70% และอีก 30% ชาร์จนอกบ้าน ดังนั้น กฟผ. จึงจะทำทั้งสถานี EleX by EGAT และการจำหน่ายติดตั้ง Wallbox เครื่องชาร์จไฟฟ้าที่บ้าน เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการชาร์จรถ EV ทุกรูปแบบ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มอพาร์ทเม้นท์และคอนโด ก็มาใช้บริการติดตั้ง  Wallbox  พร้อมกับใช้แอพพลิเคชั่น EleXA  ของ กฟผ. เพื่อบริหารการจัดเก็บค่าชาร์จไฟฟ้าด้วย” นายวฤต กล่าว

นอกจากนี้ นายวฤต ได้มองทิศทางรถ EV ในอนาคตว่าจะมีการเติบโตอย่างแน่นอน เพราะในปี 2564 เพียงปีเดียว มียอดจองรถ EV แบบก้าวกระโดดเกือบ 200% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่ายอดขายรถยนต์ของหลายๆ ค่ายตลอดทั้งปี โดยปัจจุบัน จำนวนรถ EV ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนมีประมาณ 10,000 กว่าคัน  เฉพาะมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า กว่า 5,000-6,000 คัน และรถส่วนบุคคล 3,688 คัน ส่วนสถานีอัดประจุไฟฟ้าปัจจุบันก็มีเพียงพอรองรับรถ EV ที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 เนื่องจากทุกค่ายมีแผนจะขยายการติดตั้งเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงคาดว่าไทยจะมีรถ EV จำนวน 1.2 ล้านคัน ก่อนปี 2579 ที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาลอย่างแน่นอน และจะเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่กำหนดนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือ รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ด้วย

นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟผ. (Project Management Office)

“กฟผ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่ต้องตอบสนองนโยบายภาครัฐ จึงต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้เพียงพอจนถึงระดับที่ประชาชนสบายใจที่จะเปลี่ยนมาใช้รถ EV และจะเป็นส่วนเสริมในช่วงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญนี้ เพื่อให้สังคมเดินหน้าการใช้รถ EV ได้ในระยะยาว”

ในแง่ของค่าใช้จ่ายนั้น ปัจจุบันรถ EV มีราคาใกล้เคียงกับรถใช้น้ำมันแล้ว ส่วนราคาการชาร์จไฟฟ้าที่ปั๊มชาร์จอยู่ที่ประมาณ 7.5 บาทต่อหน่วย หรือ เท่ากับ 1.50 บาทต่อกิโลเมตร ขณะที่ราคาน้ำมันอยู่ที่ราว 2.50 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งเท่ากับการใช้รถ EV ประหยัดได้ 1 บาทต่อกิโลเมตร  แต่หากชาร์จไฟฟ้าที่บ้านก็จะถูกลง อยู่ในอัตราราว 4 บาทต่อหน่วย  หรือประมาณ 0.6 บาทต่อกิโลเมตร ขณะที่ตามห้างสรรพสินค้าหรือพื้นที่ให้บริการอื่นๆ ราคาจะเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขธุรกิจ โดยคาดว่าราคาจะอยู่ที่ประมาณ 8.5 บาทต่อหน่วย

นายวฤต กล่าวว่า วันที่ 1-12 ธ.ค. 2564  กฟผ. จะเปิดบูธนิทรรศการในงาน MOTOR EXPO 2021 โดยทีม กฟผ. พร้อมให้ข้อมูลและคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจด้าน EV ทั้งผู้ใช้และนักลงทุนทุกคน ซึ่งการทำธุรกิจ EV ของ กฟผ. ไม่ได้จำกัดรูปแบบ ดังนั้นสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตามพื้นฐานที่ลูกค้ามี ซึ่ง กฟผ. พร้อมเป็นเพื่อนร่วมทางเพื่อให้ทุกคนสบายใจที่จะหันมาสู่โลก EV 

ทั้งนี้ การส่งเสริมให้ใช้รถ EV จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับรถที่ใช้น้ำมัน อีกทั้งเมื่อไทยผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพื่อมาใช้กับรถ EV แล้ว นอกจากจะลดปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการตามข้อตกลงที่รัฐบาลได้ลงนามในการประชุมผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP 26 โดยกำหนดให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065  

Advertisment