กฟผ. เปิดศูนย์เฉพาะกิจติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ โดยมีผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์น้ำรายวัน พร้อมประสานงานร่วมกับศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤตของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน เพื่อบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤตให้มีประสิทธิภาพ พร้อมอัพเดทข้อมูล 7 ส.ค. 2561 เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนน้ำพุง ยังมีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) ในขณะที่เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนรัชชประภา เขื่อนบางลาง ระดับปริมาณน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2561 กฟผ. ได้เปิดศูนย์เฉพาะกิจติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานข้อมูลและติดตามสถานการณ์น้ำของเขื่อน กฟผ. ทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด ร่วมกับศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤตของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน โดยมีการประชุมผ่านระบบ VDO Conference กับเขื่อนแต่ละแห่งทั่วประเทศเป็นประจำทุกวัน มีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์สถานการณ์น้ำเพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปอย่างเหมาะสม สนับสนุนให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศในภาวะวิกฤตช่วงนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับสถานการณ์น้ำของเขื่อน กฟผ. โดยรวมทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์ปกติ (ข้อมูล ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2561) ยกเว้นเขื่อนในภาคภาคตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนือ บางแห่งที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) ได้แก่ ภาคตะวันตก เขื่อนวชิราลงกรณ เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่เหนือเขื่อนอย่างต่อเนื่อง มีปริมาณน้ำกักเก็บ 7,505 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 85 ของความจุ โดยได้ปรับแผนการระบายน้ำตามมติของคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการน้ำ เพิ่มขึ้นในอัตราวันละ 43 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำกักเก็บ 765 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุ เขื่อนจุฬาภรณ์ มีปริมาณน้ำกักเก็บ 105 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 ของความจุ และเขื่อนน้ำพุง มีปริมาณน้ำกักเก็บ 104 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุ
ส่วนเขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ได้แก่ ภาคเหนือ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำกักเก็บ 7,711 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 57 ของความจุ เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำกักเก็บ 6,369 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 67 ของความจุ ภาคตะวันตก เขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำกักเก็บ 15,423 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 87 ของความจุ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนสิรินธร มีปริมาณน้ำกักเก็บ 1,084 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 55 ของความจุ และภาคใต้ เขื่อนรัชชประภา มีมีปริมาณน้ำกักเก็บ 4,415 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 78 ของความจุ และเขื่อนบางลาง มีปริมาณน้ำกักเก็บ 807 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 55 ของความจุ
“เขื่อนหลายแห่งที่เดิมมีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม URC ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำตามข้อสั่งการของ สทนช.จนปริมาณน้ำในอ่างฯ ลดลงอยู่ในเกณฑ์ควบคุม URC และกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ซึ่ง กฟผ. ยังคงเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำของเขื่อนทั่วประเทศผ่านศูนย์เฉพาะกิจติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ร่วมกับศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤตของ สทนช. อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดได้ทางเว็บไซต์http://www.water.egat.co.th และแอพพลิเคชั่น EGAT Water ซึ่งสามารถดาวน์โหลดค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำได้ Real Time ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งมีการถ่ายทอดสดจากกล้อง CCTV ของแต่ละเขื่อนอีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถติดตาม Info graphic รายงานสถานการณ์ในเขื่อนของ กฟผ. ได้ที่ Facebook กฟผ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้อีกช่องทางหนึ่ง” นายณัฐวุฒิ กล่าว