เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดงาน EGAT EV the Journey to Business Solutions โดยมีกิจกรรมสัมมนาพร้อมนิทรรศการให้ความรู้กับผู้สนใจลงทุนในธุรกิจสถานีชาร์จรถ EV รวมถึงเปิดให้คำปรึกษาพร้อมเจรจาธุรกิจแก่ผู้ที่ต้องการเริ่มต้นลงทุนธุรกิจสถานีชาร์จรถ EV ทั้งรูปแบบโมเดลการลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จ ผลตอบแทนจากการลงทุน การเลือกตำแหน่งสถานีที่เหมาะสมกับสถานที่ การให้บริการระบบ BackEN EV ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีสถานีชาร์จได้ง่ายขึ้น โดยผู้บริหารระบุมีภาคเอกชนสนใจแห่สอบถามข้อมูลกว่าวันละ 20 ราย ทั้งกลุ่มธุรกิจโรงแรม ปั๊มน้ำมัน สถาบันการศึกษา โดยกว่า 70 รายร่วมเข้าระบบ BackEn EV กับ กฟผ. แล้ว ในขณะที่อนาคตอีก 2-3 ปีข้างหน้าคาดว่ายอดการใช้รถ EV จะเพิ่มสูงขึ้นมาก กฟผ. จึงต้องเร่งปรับปรุงระบบไฟฟ้ารองรับเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐสู่เป้าหมาย Net Zero
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ช่วยส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การตั้งสถานีชาร์จรถ EV ภายใต้แบรนด์ Elex by EGAT รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน EleXA เพื่อให้การบริการผู้ใช้รถ EV มีความสะดวกรวดเร็วและตอบสนองความต้องการผู้ใช้รถ EV ได้ดีขึ้น ซึ่ง กฟผ. ได้จัดเตรียมระบบ EV ดังกล่าวเพื่อช่วยสนับสนุนนโยบายภาครัฐที่จะรักษาฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้อยู่ในไทยไปพร้อมกับการเดินหน้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ปี 2608
นอกจากนี้ กฟผ. ได้พัฒนาระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า “BackEN EV” ขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เห็นข้อมูลและบริหารจัดการธุรกิจ EV ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ในปีนี้ กฟผ. จะมุ่งเน้นไปที่ผู้ประกอบการและองค์กรต่าง ๆ เพื่อดึงให้เข้ามาสู่อุตสาหกรรม EV เนื่องจากประเมินว่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้รถ EV จะเติบโตมากขึ้นตามนโยบายขับเคลื่อนของภาครัฐ เราพร้อมแล้วที่จะอยู่เบื้องหลัง เพื่อผลักดันทุกๆ ธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน เราพร้อมที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน การสร้างงาน ในประเทศผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการผลิตไฟฟ้าที่มั่นคง เราพร้อมแล้วที่จะเป็นคู่คิดให้กับทุกคน” นายเทพรัตน์ กล่าว
ด้านนายพิชิต พงษ์ประเสริฐ หัวหน้าหน่วยงาน EGAT EV Business Solutions กล่าวว่า กฟผ. มีเป้าหมายที่จะติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT ให้ครบ 364 แห่งภายในสิ้นปี 2567 นี้ จากปัจจุบันติดตั้งแล้ว 160 แห่ง ครอบคลุม 59 จังหวัด โดยจะเป็นการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT ผ่านความร่วมมือกับบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี่ จำกัด เพื่อรองรับการเติบโตของผู้ใช้ EV ในประเทศไทย จำนวนกว่า 200 แห่งภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 80% จะเป็นระบบ DC Fast Charge หรือ ระบบชาร์จเร็ว และอีก 20% เป็นระบบ Normal Charge หรือ ระบบชาร์จแบบธรรมดา
ส่วนการให้บริการระบบ BackEN EV ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้ามาเป็นลูกค้าแล้วกว่า 70 ราย โดยส่วนใหญ่ 90% เป็นผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหารที่ต้องการติดตั้งสถานีชาร์จเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ ขณะที่อีก 10% เป็นผู้ประกอบการ Fleet รถ และมหาวิทยาลัย เป็นต้น
“ปีนี้ กฟผ. ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มเครือข่ายผู้ประกอบการที่เข้าร่วมลงทุนธุรกิจ EV แบบครบวงจร 160 ราย ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจเข้ามาพูดคุยกับ กฟผ. วันละไม่ต่ำกว่า 20 ราย โดยหากเป็นการเริ่มต้นจากการติดตั้งสถานีชาร์จขนาดเล็ก ใช้งบประมาณราว 2-3 แสนบาท ก็สามารถเริ่มลงทุนได้แล้ว”
อย่างไรก็ตาม กฟผ. มั่นใจว่า จากประสบการณ์ของ กฟผ. ในการพัฒนาธุรกิจสถานีชาร์จแบบครบวงจร ทำให้เข้าใจปัญหาและความต้องการของผู้ใช้ EV การเลือกสถานที่ตั้งสถานีชาร์จ การประเมินพฤติกรรมการชาร์จของลูกค้าที่เหมาะสมกับขนาดของสถานีและชนิดของเครื่องชาร์จ การบริหารจัดการรายได้ จะเป็นผู้ช่วยคนสำคัญสำหรับผู้ประกอบการให้การทำธุรกิจสถานีชาร์จเป็นเรื่องง่าย แถมยังสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับธุรกิจเดิมได้อีกด้วย