กฟผ.เตรียมแผนล่วงหน้าแล้ว รองรับปิดเหมืองถ่านหินแม่เมาะในอีก30ปี

6184
- Advertisment-

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)เตรียมแผนล่วงหน้าแล้วเพื่อรองรับเหมืองถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง ปิดตัวลงในอีก30ปี เพราะถ่านหินลิกไนต์หมด  ทั้งการสะสมเงินดูแลอาชีพให้ชุมชน ปรับปรุงพื้นที่ให้กลับคืนสู่ธรรมชาติ และสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กสำหรับผลิตไฟฟ้าและติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ  ส่วนโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่10-13 จะปลดระวางหลังปี 2568และไม่มีการสร้างทดแทน เพื่อให้โรงไฟฟ้าทุกหน่วยของแม่เมาะหมดอายุพร้อมปริมาณถ่านหินที่หมดลง

นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ได้เริ่มเตรียมแผนปิดเหมืองถ่านหินแม่เมาะเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ก่อนที่เหมืองจะหมดอายุลงในอีก 30 ปีข้างหน้าเนื่องจากปริมาณถ่านหินลิกไนต์มีไม่เพียงพอป้อนโรงไฟฟ้า

ทั้งนี้ กฟผ. ได้เริ่มเก็บเงินบางส่วนจากการผลิตถ่านหินเพื่อนำไปใช้บริหารจัดการปิดเหมือง ซึ่งจะมีหลายแนวทาง ที่สำคัญได้แก่ การส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชน เนื่องจากปัจจุบันมีชาวบ้านทำงานอยู่ที่เหมืองจำนวนมาก หากปิดเหมืองจะกระทบต่ออาชีพและรายได้ของชาวบ้าน นอกจากนี้หลังปิดเหมือง กฟผ.จำเป็นต้องฟื้นฟูสภาพธรรมชาติบนพื้นที่เหมืองที่มีกว่า 4 หมื่นไร่ให้กลับมาสู่สภาพธรรมชาติปกติ  โดยที่ผ่านมารัฐบาลมีแนวทางให้ปรับเปลี่ยนเหมืองหลังหมดอายุให้กลายเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ(Smart City) แบบเป็นไปตามวิถีชาวบ้านด้วย

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามการปรับพื้นที่เหมืองแม่เมาะจะส่งผลให้เกิดการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กได้ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ซึ่งจะเป็นเสมือนพลังงานไฟฟ้าสำรองได้ด้วย และยังใช้เป็นพื้นที่ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ โดย กฟผ. ยังอยู่ระหว่างการวางแผนที่ชัดเจนอีกครั้ง

ส่วนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่แต่เดิมมีทั้งหมด 13 หน่วยการผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันปลดโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1-3 แล้ว เนื่องจากหมดอายุโรงไฟฟ้า ส่วนหน่วยที่ 4-7 ที่หมดอายุและสร้างทดแทนใหม่เป็น โรงไฟฟ้าRP1 ขนาด 655 เมกะวัตต์ ​ซึ่งเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าไปเมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา

ขณะที่หน่วยที่ 8-9 กำลังจะหมดอายุในปี 2568 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นของประชาชนและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนในชื่อ โรงไฟฟ้า RP2 ขนาดประมาณ 650  เมกะวัตต์​ ซึ่งการสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนดังกล่าวเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ พ.ศ. 2561-2580 หรือ PDP2018 โดยมีกำหนดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ(COD) ปี 2569 และโรงไฟฟ้าจะมีอายุ 25-30 ปี

ส่วนหน่วยผลิตไฟฟ้าที่ 10-13 มีแผนจะปลดออกจากระบบหลังปี 2568 หรือ 2569  เนื่องจากถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะมีไม่เพียงพอจึงต้องวางแผนปลดโรงไฟฟ้าดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะผลิตไฟฟ้าได้รวมประมาณ 2,400 เมกะวัตต์ ซึ่ง กฟผ.พิจารณาแล้วว่า โรงไฟฟ้าแม่เมาะที่สร้างใหม่ทดแทนโรงเก่า จะหมดอายุพร้อมกับการหมดไปของถ่านหินที่เหมืองพอดี

Advertisment