กฟผ.เตรียมเสนอแผนนำเข้า LNG ล็อตใหม่เพื่อใช้ในปี63ปริมาณไม่เกิน1ล้านตัน

715
- Advertisment-

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เร่งจัดทำแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)แบบราคาตลาดจร(spot)ล็อตใหม่ สำหรับใช้ในปี 2563 เพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ในเดือนก.พ.2563นี้ ระบุเป็นการดำเนินการในช่วงเงินบาทแข็งค่า และLNG มีราคาถูก ตามนโยบายรัฐมนตรีพลังงาน  คาดเริ่มนำเข้าได้ช่วง มิ.ย.-ธ.ค.2563ในปริมาณไม่เกิน1ล้านตันต่อปี

นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.อยู่ระหว่างเร่งจัดทำแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)แบบราคาตลาดจร(spot) สำหรับใช้ในช่วงครึ่งหลังปี 2563 โดยคาดว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ได้ในการประชุมเดือน ก.พ.2563นี้ เพื่อให้สามารถเตรียมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และเริ่มนำเข้าได้ในช่วงตั้งแต่เดือนมิ.ย.จนถึง ธ.ค.2563

ทั้งนี้LNGที่จะนำเข้าในรูปแบบspot จะนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้แก่ โรงไฟฟ้าพระนครใต้,บางปะกง และวังน้อย คาดว่าจะมีปริมาณนำเข้ารวมไม่เกิน 1ล้านตัน  โดยการเร่งนำเข้าLNG ดังกล่าวเนื่องจากปัจจุบันราคา LNG แบบspot อ้างอิงตลาดJKM  รวมค่าขนส่งมีราคาถูกมากอยู่ที่ประมาณ 4 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียูในขณะที่ยังเป็นช่วงที่เงินบาทแข็งค่า (ณ วันที่ 29 ม.ค. 2563 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 30.891 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

- Advertisment -

นายธวัชชัย กล่าวว่า แผนนำเข้าLNG แบบspot ล็อตใหม่ ของกฟผ.จะไม่กระทบต่อสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาว ที่ กฟผ.ทำไว้กับ ปตท. เนื่องจากช่วงระยะเวลาที่นำเข้า คือครึ่งหลังของปี2563 เป็นช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลจริงช่วงวันที่ 1-23 ม.ค. 2563 ความต้องการใช้ไฟฟ้าพุ่งขึ้นถึง 5.94%

ที่ผ่านมา กฟผ.มีการทดลองนำเข้าLNG แบบspot แล้ว จำนวน130,000 ตัน โดยปิโตรนาส แอลเอ็นจี  ของมาเลเซีย เป็นผู้ชนะการประมูล และนำเข้าล็อตแรก 65,000ตันเมื่อวันที่ 28ธ.ค.2562  และล็อตที่สองอีก 65,000ตัน จะนำเข้ามาในเดือนเม.ย.2563

สำหรับความคืบหน้าสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาว หรือสัญญาGlobal DCQ ระหว่าง กฟผ.และ ปตท. นั้น ขณะนี้สัญญาผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดกฟผ.แล้วและอยู่ระหว่างให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ คาดว่า จะสามารถลงนามสัญญาฯกับ ปตท.ได้ในช่วงเดือน มิ.ย. 2563 นี้

โดยปริมาณซื้อขายก๊าซฯ ภายใต้สัญญา Global DCQ จะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้ เบื้องต้น  คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 3.5-5 ล้านตันต่อปี โดยมีอายุสัญญา 10 ปี(ปี2563 – 2572) ใกล้เคียงกับความต้องการใช้ก๊าซฯในโรงไฟฟ้าของกฟผ.ที่ใช้อยู่ประมาณ 5-6 ล้านตันต่อปี

Advertisment