กฟผ.ขอเจรจาผู้ชนะประมูลจัดหาLNG หวังแก้ปัญหาTake or Payกับปตท.

1876
- Advertisment-

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เตรียมเจรจาต่อรองกับผู้ชนะประมูลจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ  LNG  ให้ลดปริมาณจัดหาลงในระดับที่จะไม่ทำให้กฟผ.มีปัญหาเรื่องTake or Pay(การรับก๊าซไม่ครบตามสัญญาแต่ต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนแล้วค่อยเรียกรับก๊าซเพิ่มให้ครบในปีถัดไป) ที่เป็นเงื่อนไขผูกไว้ในสัญญาซื้อขายก๊าซกับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)  โดยจะเร่งสรุปให้เสร็จก่อนเดือน ก.ย. 2562 ก่อนเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณา 

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์  รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และในฐานะโฆษก กฟผ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปีว่า ขณะนี้ยังไม่มีการลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ให้ กฟผ. เนื่องจากยังอยู่ระหว่างแก้ปัญหาเรื่องTake or Pay ที่เป็นข้อผูกพันในสัญญาการซื้อขายก๊าซธรรมชาติ กับทางบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ทั้งนี้หากการนำเข้าLNG ของกฟผ. ทำให้เกิดปัญหา Take or Pay กับปตท. โดยไม่สามารถรับก๊าซจากปตท.ได้ตามสัญญา   ทาง กฟผ. ก็ยังมีแนวทางแก้ไข โดยจะหันไปเจรจาต่อรองกับผู้ชนะการประมูล เพื่อลดสัดส่วนการนำเข้า LNG ลงในระดับปริมาณที่จะไม่มีปัญหากับปตท. โดยจะพิจารณาอีกครั้งว่าควรจะลดการนำเข้าในปีใดระหว่างปี  2562 ซึ่งเป็นปีแรกที่จะต้องนำเข้า LNG ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) หรือในปี  2563 ที่จะมีปริมาณซัพพลายก๊าซฯตามสัญญาสูงเกินความต้องการใช้

ทั้งนี้ ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่ผ่านมา กำหนดให้ กฟผ.ต้องนำเข้า LNG ล็อตแรกเดือน ก.ย. 2562 ดังนั้น กฟผ.จะต้องรีบสรุปแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่เพื่อพิจารณาว่าจะให้ กฟผ.ลงนามสัญญาจัดหาและนำเข้าก๊าซ LNG กับผู้ชนะประมูลหรือไม่

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า ก่อนหน้านี้ กฟผ.ได้เปิดประมูลจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ให้ กฟผ. โดยได้เอกชนที่เสนอราคาต่ำสุดแล้ว คือเปโตรนาส แอลเอ็นจี ของมาเลเซีย จากที่มีผู้ผ่านคุณสมบัติเสนอราคาทั้งหมด 12ราย   แต่ทาง กบง. ที่มีนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีพลังงาน เป็นประธานยังไม่อนุมัติให้ กฟผ. ลงนามในสัญญาตามผลการประมูลดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าการนำเข้าLNG ของกฟผ.  อาจจะมีประเด็นปัญหาTake or Pay กับปตท.   ดังนั้น กบง.จึงให้ ทั้ง2หน่วยงาน คือ กฟผ.และ ปตท.ไปเจรจาแก้ปัญหา ดังกล่าวให้ได้ข้อยุติ และนำข้อสรุปมาเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาต่อไป

Advertisment