กฟผ.เตรียมปรับแผนจัดหา LNG​ ใหม่​ เป็นสัญญาระยะกลาง​ 5-7 ปี​

798
- Advertisment-

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย​(กฟผ.) เสนอปรับแผนจัดหา LNG​ ใหม่​ เป็นสัญญาระยะกลาง​ 5-7 ปี​ แทนแผนเดิมที่จะนำเข้ารวม 5.5 ล้านตัน ในปี2564-2566 โดยจะมีการพิจารณาแผนนำเข้าใหม่ในบอร์ดกฟผ.ภายในเดือน​ ส.ค.นี้​

ทั้งนี้ในแผนการนำเข้า​ก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ​ LNG​ ที่ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน​ (กบง.) ให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2563 นั้น​ มีระยะเวลา​ 3​ ปี​ ตั้งแต่ปี​ 2564-2566 ปริมาณรวม 5.5 ล้านตัน สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ในโรงไฟฟ้าบางปะกง, โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโรงไฟฟ้าวังน้อย โดยแบ่งการนำเข้า LNG เป็น 3 ช่วงได้แก่ ปี 2564 นำเข้าไม่เกิน 1.9 ล้านตัน, ปี 2565ไม่เกิน 1.8 ล้านตัน และปี 2566 นำเข้าไม่เกิน 1.8 ล้านตัน แต่เนื่องจาก กฟผ. เห็นว่าแผนดังกล่าวไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากเป็นแผนที่จัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2562 จึงต้องนำเสนอเพื่อปรับปรุงแก้ไขใหม่

โดย​ นางราณี โฆษิตวานิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย​ (กฟผ.) เปิดเผยว่า ภายหลังจาก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย 2564 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารายละเอียด แนวทาง ตลอดจนหลักเกณฑ์การนำเข้าให้แล้วเสร็จและเสนอ กพช. ภายใน ไตรมาสที่​ 2 ของปี 2564 นั้น​ ทำให้ กฟผ.ต้องศึกษาแผนการนำเข้า​ LNG.ใหม่ให้สอดคล้อง โดยในแผนที่ปรับใหม่จะเป็นการจัดหาก๊าซ LNG ในสัญญาระยะกลาง 5-7 ปี ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอขออนุมัติจากบอร์ด กฟผ. ได้ประมาณเดือน มิ.ย.-ส.ค. 2564 นี้ เพื่อให้เริ่มนำเข้าได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564

- Advertisment -

ทั้งนี้รูปแบบการจัดหา LNG ของ​ กฟผ.เพื่อให้เกิดความมั่นคงและไม่กระทบต่อภาระ Take or pay ในสัญญาที่ทำไว้กับ ปตท.​

ในเบื้องต้นคาดว่าในปี 2564 จะนำเข้า LNG จำนวน 3 แสนตัน เพื่อมาใช้กับโรงไฟฟ้าบางปะกงทดแทน เพราะเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง​ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มนำเข้า LNG มาใช้ได้จริงประมาณไตรมาส 4 ของปี 2564 เพราะต้องรอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน​ (กกพ.) พิจารณาหลักเกณฑ์การนำเข้า LNG สำหรับผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ​(Shipper) รายใหม่ ตาม มติ​ กพช. ให้แล้วเสร็จก่อน

สำหรับในปี 2565 คาดว่าจะนำเข้าได้ประมาณ 1.3 ล้านตัน เพื่อนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าบางปะกงทดแทนเช่นกัน

โดยคาดว่าจะใช้เงินสำหรับการนำเข้า LNG ระยะ 5-7 ปี ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งงบประมาณในการจัดซื้อ LNG จะต้องขออนุมัติวงเงินจากบอร์ด กฟผ.ด้วย

นางราณี กล่าวว่า กฟผ.จะมีการ หารือกับ กกพ. เพื่อขอความเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงแผนการนำเข้าก๊าซ LNG ดังกล่าวว่าจะเหมาะสมกับระยะเวลา,ปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯของประเทศ และความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศหรือไม่

โดยที่ผ่านมากำหนดการหารือเดิมได้ถูกเลื่อนออกไป​ เพราะปัญหาสถานการณ์ไวรัสโควิด-19

Advertisment