กฟผ.เดินหน้าประมูลโครงการโซลาร์ลอยน้ำแบบไฮบริด เขื่อนอุบลรัตน์ 24 เมกะวัตต์ ภายในปีนี้

2130
- Advertisment-

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) คาดออกทีโออาร์ประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำผสมผสานกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ระบบไฮบริดโซลาร์ลอยน้ำ ( Hydro Floating Solar Hybrid System ) ที่เขื่อนอุบลรัตน์ ขนาด 24 เมกะวัตต์ ได้ภายใน 2564 นี้ โดยราคากลางของตลาดโลกในการประมูลอยู่ที่ 30-35 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์  ถูกลงกว่าเดิม กำหนดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบปี 2566 

 นายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.มีแผนจะเปิดประมูล “โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำผสมผสานกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำระบบไฮบริด หรือ ( Hydro Floating Solar Hybrid System ) ที่เขื่อนอุบลรัตน์ ขนาด 24 เมกะวัตต์ โดยจะออกทีโออาร์ได้ภายในปี  2564 นี้  ใช้เวลาก่อสร้าง 12 เดือน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ตั้งแต่ต้นปี2565  และมีกำหนดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ(COD) ในปี 2566

สำหรับราคากลางในการประมูลโครงการดังกล่าวจะอยู่ระหว่าง 30-35 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ เทียบเท่ากับราคากลางที่ทั่วโลกใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งลดลงจากเดิมที่อยู่ประมาณ 45-50 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ หรือลดลงมากว่า 10 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ที่มีต้นทุนต่ำลงและภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น

- Advertisment -

ทั้งนี้โครงการโซลาร์ลอยน้ำฯเขื่อนอุบลรัตน์ จะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมากกว่าเดิม เนื่องจากจะเสริมแบตเตอรี่เข้าไปเพิ่มมากกว่าโครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร ซึ่งจะช่วยให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ในขณะที่ประสิทธิภาพของแผงโซลาร์เซลล์ ก็ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 400 วัตต์ต่อแผง สูงขึ้นจากเดิมที่ผลิตได้ 330-380 วัตต์ต่อแผง โดยเป็นแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าเพียงด้านเดียว คือด้านรับแสงแดดเท่านั้น เนื่องจากศึกษาแล้วพบว่า จะไม่เกิดประโยชน์หากใช้แผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า 2 ด้าน เพราะแสงสะท้อนจากน้ำไม่เสถียรพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้

นายฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า กฟผ.จะต้องยื่นแผนการเปิดประมูลดังกล่าวให้กระทรวงพลังงานพิจารณาก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบ จึงจะเริ่มกระบวนการเปิดประมูลได้

สำหรับโครงการโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำแบบไฮบริดที่เขื่อนอุบลรัตน์ ถือเป็นการดำเนินการต่อเนื่องเป็นโครงการที่ 2 ต่อจากโครงการที่เขื่อนสิรินธร ขนาด 45 เมกะวัตต์ ซึ่งการก่อสร้างคืบหน้าไปมากกว่า 80% และมีกำหนดแล้วเสร็จพร้อมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ได้ ประมาณปลายปี 2564

โดยการดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561–2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 rev1 ) ที่กฟผ.จะต้องลงทุนพัฒนาโครงการทั้งหมด 16 โครงการ ใน9 เขื่อน รวม  2,725 เมกะวัตต์

 

Advertisment