กฟผ.อัพเดทนำเข้าLNG แบบ SPOT ล็อตสอง 65,000 ตันภายใน เม.ย.นี้ ยังเดินหน้าตามแผน

635
- Advertisment-

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) อัพเดทการทดสอบนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ล็อตสอง ปริมาณ 65,000 ตัน ภายในเดือนเม.ย.2563 นี้ ยังเป็นไปตามแผน แต่หาก PETRONAS LNG  ของมาเลเซีย แจ้งเลื่อนออกไป เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของCOVID-19 รุนแรงขึ้น ก็จะไม่กระทบต่อความมั่นคงไฟฟ้า โดยจะมีการติดตามสถานการณ์แบบวันต่อวัน

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่30 มี.ค. 2563  กฟผ.ได้สอบถามทางบริษัท PETRONAS LNG และบริษัท บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) ซึ่งเป็นคลังรองรับ LNG  เกี่ยวกับความพร้อมในการส่งมอบก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG 65,000 ตัน ที่กฟผ.นำเข้ามาเพื่อการทดสอบเป็นล็อตที่สอง ภายในเดือนเม.ย.2563 นี้ โดยทั้งสองบริษัท ยืนยันว่า ทุกอย่างยังเป็นไปตามกำหนดเดิมตามเงื่อนไขสัญญา  เนื่องจากทางการของมาเลเซียมีการผ่อนปรนกฎระเบียบการปิดประเทศ สำหรับกิจการที่สำคัญบางอย่าง เช่น การส่งมอบ LNG  โดย กฟผ. จะมีการติดตามสถานการณ์แบบวันต่อวัน

อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสCOVID-19 ของมาเลเซียมีความรุนแรงขึ้น และทางการมาเลเซียไม่อนุญาตให้มีการขนส่งทางเรือเพื่อป้องกันการติดเชื้อของลูกเรือจนทำให้ต้องเลื่อนการส่งมอบ LNG  ดังกล่าวออกไป  ก็จะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ   เพราะโรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 ที่จะใช้ทดสอบLNG ที่กฟผ.นำเข้ามาใช้เองนั้น ยังสามารถที่จะใช้ก๊าซธรรมชาติในระบบของปตท.ทดแทนได้ อีกทั้ง  LNG ที่นำเข้ามาทดสอบ 65,000 ตันนั้น ถือเป็นปริมาณที่ไม่มากเมื่อเทียบกับปริมาณปกติที่โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะใช้ก๊าซฯถึง 7 แสนตันต่อปีสำหรับผลิตไฟฟ้า

- Advertisment -

  ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า การนำเข้า LNG ล็อต ดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2562 ที่ให้กฟผ.จัดหา LNG ในปริมาณไม่เกิน 200,000 ตัน เพื่อทดสอบระบบการแข่งขันเสรีในกิจการก๊าซธรรมชาติ โดยกำหนดให้นำเข้าก๊าซ LNG  แบ่งเป็น 2 ลำเรือ ลำเรือละ 65,000 ตัน

จากนั้น กฟผ. ได้เปิดประมูลหาผู้นำเข้าให้ กฟผ. และผู้ชนะการประมูลจัดหาและนำเข้า LNG แบบ Spot คือบริษัท PETRONAS LNG ประเทศมาเลเซีย

โดย บริษัท PETRONAS LNG ได้นำเข้า LNG  65,000 ตัน ลำแรกมายังท่าเทียบเรือมาบตาพุด จ.ระยอง ระหว่างวันที่ 28 – 31 ธ.ค. 2562  เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5 และโรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 แต่ในทางปฏิบัติ นำมาใช้จริงเพียงโรงไฟฟ้าวังน้อยชุดที่ 4 เท่านั้น และใช้หมดในเวลา 1 เดือน ส่วนโรงไฟฟ้าบางปะกงชุดที่ 5 เป็นโรงไฟฟ้าที่สำรองไว้กรณีโรงไฟฟ้าวังน้อยมีปัญหา

ส่วนลำที่ 2 จะนำเข้า LNG อีก 65,000 ตัน ในเดือนเม.ย. 2563 นี้  โดยนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 เช่นเดียวกันกับล็อตแรก และมีโรงไฟฟ้าบางปะกงชุดที่ 5 และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทน ชุดที่ 1 เป็นโรงไฟฟ้าสำรองไว้

โดยการทดสอบนำเข้าก๊าซ LNG ที่แบ่งนำเข้าเป็น 2 ช่วงเวลาเพื่อทดสอบและปรับปรุงระบบการบริหารคลังและท่อ และเป็นข้อมูลให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ใช้ประกอบการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติได้อย่างถูกต้องครบถ้วนและไม่ให้ส่งผลกระทบกับค่าไฟฟ้า โดยหากผลการทดสอบออกมาดี กฟผ.อาจพิจารณานำเข้า LNG 20-30%  มาใช้กับโรงไฟฟ้าของกฟผ.เอง จากปกติใช้ก๊าซฯของ ปตท. ทั้ง100%เป็นเชื้อเพลิง

Advertisment