กฟผ.ลงนามสัญญาจ้างเหมาขุด-ขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8/1 กับ สหกลอิควิปเมนท์ แล้ว

91
- Advertisment-

กฟผ. ลงนามสัญญาจ้างเหมาขุด-ขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8/1 กับ บริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) แล้ว หลังถูกสั่งเบรกกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ทำให้เกิดความล่าช้าจากแผนไปกว่า 4 เดือน โดยจะเร่งขุด-ขนดินและถ่านหินให้มีปริมาณเพียงพอสำหรับผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง คาดสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลังผลิตภายในเดือนพฤษภาคมนี้ 

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ลงนามสัญญาจ้างขุด-ขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8/1 กับบริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 เรียบร้อยแล้ว จากนั้น กฟผ. ได้เร่งรัดดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทผู้รับจ้าง และเริ่มดำเนินงานขุดคัดแยกและขนถ่านหินลิกไนต์ทันที ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา 

งานจ้างเหมาขุด-ขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8/1 ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน เนื่องจากมีความล่าช้าจากแผนที่กำหนดไว้มาก กฟผ. ยังยืนยันความจำเป็นที่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วิกฤตพลังงานปี 2565 เพราะถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนต่ำ ช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพงและยังมีความเสี่ยงต่อความผันผวนด้านราคา เพื่อพยุงราคาค่าไฟฟ้าของประเทศไม่ให้สูงเกินไป รวมถึง กฟผ. ยังต้องแบกรับภาระค่า Ft ไว้จนถึงวันนี้ เป็นเหตุให้ กฟผ. ต้องนำถ่านหินภายใต้สัญญาเดิม (สัญญา 8 และ 9) มาใช้ก่อนกำหนด จนปริมาณถ่านหินครบก่อนสิ้นสุดสัญญา 

- Advertisment -

กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่ต้องบริหารจัดการเชื้อเพลิงถ่านหินเพื่อไม่ให้การผลิตไฟฟ้าต้องหยุดชะงัก จึงจำเป็นต้องเร่งรัดการจ้างเหมาขุด-ขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8/1 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม กฟผ. จึงเลือกใช้วิธีการจ้างเหมาโดยวิธีพิเศษแบบหลายราย ไม่ใช่วิธีพิเศษแบบเฉพาะเจาะจงรายเดียวอย่างที่หลายคนเข้าใจ ผ่านขั้นตอนการพิจารณาโดยกรรมการคณะต่าง ๆ อย่างถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบทุกขั้นตอน รวมถึงให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงงานจ้างเหมาขุด-ขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะฯ ที่แต่งตั้งโดยกระทรวงพลังงานอย่างเต็มที่เพื่อให้กระบวนการสอบสวนดำเนินการได้โดยเร็วที่สุด ทั้งการเข้าไปให้ข้อมูลในส่วนของผู้บริหาร กฟผ. ตรงตามเวลานัดหมายทุกครั้ง ไม่เคยล่าช้า เพราะเราทราบดีว่า หากล่าช้าจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายซ้ำเติมขึ้นไปอีก รวมถึงให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ข้อมูลและส่งเอกสารโดยเร็วที่สุดเมื่อได้รับการร้องขอ  

อย่างไรก็ตาม กฟผ. มีความจำเป็นต้องบริหารถ่านหินให้มีปริมาณสำรองที่เพียงพอ ทำให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังการผลิตในช่วงเดือนเมษายนนี้ และจะสามารถกลับมาเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า กฟผ. สามารถบริหารจัดการเชื้อเพลิงถ่านหินที่มีอยู่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ โดยมิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงด้านการผลิตไฟฟ้าและต้นทุนราคาพลังงานของประเทศอย่างเต็มความสามารถ

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC )รายงานว่า สำหรับสัญญาจ้างขุด-ขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8/1 กับบริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567  นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าการ กฟผ.เพื่อให้ระงับการดำเนินการที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฏหมายเสร็จสิ้น โดยหลังจากนั้นได้มีการลงนามตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา 1 ชุด มีพล.ต.ท. เรวัช กลิ่นเกษร เป็นประธาน อย่างไรก็ตามผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า กระบวนการดำเนินการของ กฟผ.มีความถูกต้อง โปร่งใส จึงนำมาสู่การลงนามสัญญาในที่สุด แต่ก็ทำให้เกิดความล่าช้าไปกว่าแผนงานนานกว่า 4 เดือน 

Advertisment