กฟผ. พัฒนาสินค้าและท่องเที่ยว ยกระดับชีวิตชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

1262
- Advertisment-

หลังจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เริ่มพัฒนาพื้นที่รอบเขื่อนที่อยู่ภายใต้การดูแลกว่า 15 แห่งให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ จะเห็นได้ว่ามีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าไปเที่ยวเขื่อนต่างๆ และพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเขื่อนกันอย่างไม่ขาดสาย โดยจากสถิติปี 2562 ที่ผ่านมา เฉพาะเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี แห่งเดียว มีนักท่องเที่ยวมาเยือนแล้วกว่า 1 ล้านคนเลยทีเดียว

ทำไม กฟผ. ต้องการพัฒนาเขื่อนผลิตไฟฟ้าและพื้นที่รอบๆ โรงไฟฟ้าให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว? ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center – ENC ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายประเสริฐ อินทับ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กฟผ. ถึงวิสัยทัศน์ของ กฟผ. ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งคุณประเสริฐได้อธิบายว่า นอกจากเขื่อนจะมีประโยชน์ในการกักเก็บน้ำเพื่อเกษตรกรรม และผลิตไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าให้ประเทศแล้ว กฟผ. มองว่า เขื่อนมีส่วนสำคัญที่จะช่วยระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนรอบเขื่อนด้วย

นายประเสริฐ อินทับ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กฟผ.

กฟผ. จึงดำเนินการ ใน 3 ส่วนสำคัญ คือ 1. จ้างแรงงานในชุมชนเข้ามาทำงานในเขื่อน ให้สมาชิกชุมชนมีรายได้  2. ส่งเสริมอาชีพด้วยผลิตภัณฑ์จากชุมชน และ 3. การลงทุนปรับปรุงภูมิทัศน์ของเขื่อน และพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าหลายแห่ง ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดให้คนทั่วประเทศเข้ามาเที่ยวเขื่อน และเกิดการจับจ่ายใช้สอย ซื้อผลิตภัณฑ์จากชุมชน

- Advertisment -

โดยที่ผ่านมา กฟผ. มีการพัฒนาพื้นที่ ปรับปรุงภูมิทัศน์รอบเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อนหลักของ กฟผ. ที่มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำติดตั้งอยู่ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่มีทั้งที่พัก ร้านอาหาร สนามกอล์ฟ สวนสาธารณะ และจุดเช็คอินใหม่ๆ ที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว และช่วยสร้างโอกาสให้ผู้มาเยือนได้อุดหนุนผลิตภัณฑ์จากชุมชนรอบเขื่อนที่ กฟผ. เข้าไปส่งเสริม จนกลายเป็นอาชีพหลักของชุมชน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

ทิวทัศน์อ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา

คุณประเสริฐบอกว่า ที่แต่ละเขื่อนของ กฟผ. กลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจในวันนี้ เพราะ กฟผ. จริงใจในการเข้าไปช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านชุมชนรอบเขื่อนมีอาชีพเสริมที่สร้างรายได้นอกเหนือจากทำเกษตรกรรม และหากพบว่าผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีอยู่ยังไม่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้จับจ่ายใช้สอย กฟผ. ก็จะไปช่วยปรับปรุงรสชาติให้ถูกปากนักท่องเที่ยว ช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามน่าสนใจ รวมทั้งการจัดพื้นที่ร้านอาหารของ กฟผ. ให้เป็นช่องทางนำสินค้าของชุมชนมาจำหน่ายได้มากขึ้น ส่งผลให้ทุกวันนี้สินค้าชุมชนได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากขึ้นทุกปี จากอาชีพเสริมก็กลายเป็นอาชีพหลักของใครหลายคน สร้างรายได้ให้คนในชุมชนรอบเขื่อนได้มากขึ้นจนพึ่งพาตัวเองได้

ทัศนียภาพเขื่อนสิริกิติ์

เขื่อน เมื่อสร้างแล้วจะมีอายุอยู่เป็นร้อยปี ดังนั้นเมื่อ กฟผ. มาสร้างเขื่อนเพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ดื่มกิน เพื่อการเกษตร และผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนแล้ว ชาวบ้านที่อยู่รอบเขื่อนก็ต้องมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วย เราจะดูแลแบบฉบฉวยไม่ได้ ต้องทำให้เกิดความยั่งยืน เพราะชุมชนจะต้องอยู่คู่กับเขื่อนไปยาวนาน กฟผ. จึงเข้าไปส่งเสริมอาชีพให้เขามีรายได้จากการจำหน่ายสินค้า ช่วยเหลือตัวเองได้ เขาจะเกิดความภูมิใจ เมื่อเขามีอาชีพมีรายได้ ลูกหลาน พ่อแม่ก็ได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ช่วยกันทำมาหากินในบ้านเกิดตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ กฟผ. ได้ทำมานานแล้วและทำมาตลอด จนทุกวันนี้ชาวบ้านเริ่มมีรายได้หลักมาจากการจำหน่ายสินค้ามากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น และอยู่ร่วมกับ กฟผ. อย่างมีความสุข” คุณประเสริฐกล่าว

ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กฟผ. ถือโอกาสเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้ลองเข้ามาสัมผัสการท่องเที่ยวแบบเขื่อน ที่ กฟผ.ได้ปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมน่าสนใจหลากหลาย เช่น เขาแหลมสกายวอล์ค ที่เขื่อนวชิราลงกรณ (เขื่อนเขาแหลม) จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นทางเดินกระจกใส สูงจากพื้นดิน 8 เมตร และยาวประมาณ 34 เมตร จากบนนี้สามารถชมวิวทิวทัศน์ได้กว้างไกล รับลมเย็นธรรมชาติ พร้อมสูดอากาศสดชื่นแบบเต็มปอด นับเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ใน จ.กาญจนบุรี และเป็นจุดเช็คอินยอดฮิตในปี 2563 เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีสะพานแขวนเขาพัง ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเขื่อนรัชชประภา ไฮไลท์ของสะพานแขวเขาพังที่ใครๆ ก็อยากมาถ่ายรูปคือฉากหลังภูเขารูปหัวใจ ที่สวยงามแปลกตาเกิดจากธรรมชาติ

เขาแหลมสกายวอล์ค ที่เขื่อนวชิราลงกรณ
สะพานแขวนเขาพัง ฉากหลังภูเขารูปหัวใจ

ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ แต่ละเขื่อนต่างมีจุดเด่น ทั้งสถานที่และสินค้าที่เป็นซิกเนเจอร์ของตัวเอง  เช่น เขื่อนภูมิพล มีอาหารประเภทสลัดที่ขึ้นชื่อด้านความอร่อยเป็นเลิศ และไอศกรีมที่รสชาติไม่เหมือนใคร  หรือเขื่อนศรีนครินทร์ มีเมนูปลาพุงแตก และไอศกรีมรสเผือกที่ใครไปแล้วไม่ได้ชิม ถือว่ายังไปไม่ถึง

ปลาพุงแตก
น้ำสลัดเขื่อนภูมิพล

นอกจากนั้น ที่เขื่อนต่างๆ ยังมีร้านกาแฟคุณสายชล แบรนด์เครื่องดื่มของ กฟผ. ไว้บริการนักท่องเที่ยวที่อยากรีเฟรชระหว่างเที่ยวชมสถานที่รอบๆเขื่อนอีกด้วย ซึ่งจุดเด่นของกาแฟคุณสายชล คือการนำเมล็ดกาแฟจากชาวบ้านมาเป็นวัตถุดิบ ที่ทำให้รสชาติไม่เหมือนที่อื่น

สำหรับวันหยุดเทศกาลปีใหม่ ที่ใกล้จะมาถึงนี้ กฟผ. ได้จัดโครงการมอบของขวัญปีใหม่ โดยให้ส่วนลดบ้านพัก และมอบผลิตภัณฑ์ชุมชนมูลค่า ให้ผู้ใช้บริการ รวมถึงยังมีแคมเปญร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระตุ้นเศรษฐกิจ มอบส่วนลดบ้านพัก 50% ใน 8 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนรัชชประภา ซึ่งสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่เขื่อนโดยตรง

เขื่อนภูมิพลและชุมชนโดยรอบ ร่วมงานจำหน่ายสินค้า “ตลาดนัดเอนจี้ ของดีทั่วไทย” ที่ กฟผ. จัดขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้

อาจพูดได้ว่า เขื่อนและพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า กฟผ. กำลังจะมีทุกสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการ จากวิสัยทัศน์ขององค์กรที่ต้องการให้เขื่อน กฟผ. เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ร่วมกับชุมชน สังคม และคนไทย มีเขื่อน กฟผ.อยู่ที่ไหน มีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนอยู่ที่นั่น นอกจากนั้น ในสถานการณ์ที่โรคระบาดโควิด-19 ยังต้องเฝ้าระวังกันต่อไป และนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย การสนับสนุนให้คนไทยออกท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนและเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

 

 

 

Advertisment