เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี (EV : Electric Vehicle) ที่กำลังมาแรงและขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วโลก ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าภายใน 4 ปี รถอีวีจะมีราคาเท่ากับรถยนต์ทั่วไป และอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีการผลิตรถอีวีคิดเป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดหรือประมาณ 750,000 คัน ดังนั้นในขณะที่โลกทั้งใบกำลังเปลี่ยนโหมดเข้าสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ไทยซึ่งมีจุดแข็งในด้านการขนส่งและห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์จึงต้องช่วงชิงโอกาสทองสร้างความพร้อมสู่การเป็นฮับยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอาเซียนในอนาคต โดยอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และค่ายรถยนต์ต่าง ๆ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ประกาศตัวพร้อมสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้มีความมั่นคง และเดินหน้าเปิดธุรกิจใหม่ “EGAT EV Business Solutions” ได้แก่ สถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ตู้อัดประจุไฟฟ้า (EV Charger) แอปพลิเคชัน (Mobile Application) และระบบบริหารจัดการเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Network Operator Platform) เพื่อรองรับเทคโนโลยีและธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ

“บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร” ผู้ว่าการ กฟผ. ในฐานะหัวเรือใหญ่ของ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านอีวีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางในอนาคตและร่วมสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม โดย กฟผ. จะเป็นผู้ช่วยและเป็นผู้เชื่อมโยงธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้
–
นำร่องสถานีอีวีแบบชาร์จเร็ว 120 kW

กฟผ. เปิดให้บริการสถานีชาร์จอีวี “EleX by EGAT” ซึ่งชาร์จไฟฟ้าได้รวดเร็ว ปลอดภัย โดยภายในสถานีประกอบด้วยเครื่องชาร์จ 2 แบบ คือ แบบชาร์จเร็ว (DC Fast Charge) สามารถจ่ายกำลังไฟฟ้าได้ถึง 120 กิโลวัตต์จึงใช้เวลาชาร์จประมาณ 15 – 30 นาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจุแบตเตอรี่และระบบไฟของรถ นอกจากนี้ยังมีระบบ Smart Load Management จึงสามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้พร้อมกัน 2 คัน และแบบชาร์จปกติ (AC Normal Charge) เป็นอุปกรณ์ชาร์จของ Wallbox ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานยุโรป สามารถรองรับรถยนต์ได้ทุกค่าย ซึ่งปัจจุบัน กฟผ. ได้ติดตั้งไปแล้ว 13 สถานี และตั้งเป้าขยายสถานีเพิ่มเป็น 48 สถานี ภายในสิ้นปี 2564 เพื่อให้ครอบคลุมทุกเส้นทางหลักทั่วประเทศ โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า สนามกอล์ฟ รองรับทุกการเดินทางสำหรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศ ส่วนอัตราค่าบริการ กฟผ. จะเปิดให้บริการชาร์จฟรีจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 64 จากนั้นจะคิดค่าบริการชาร์จประมาณ 6-8 บาทต่อหน่วย ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อผู้ใช้รถอีวีทุกค่าย

แอปพลิเคชัน “EleXA” ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นผู้ช่วยผู้ใช้รถอีวีทุกคนให้กลายเป็นเรื่องง่ายและรวดเร็ว ตั้งแต่การค้นหาและจองสถานีชาร์จอีวี การชาร์จ และการจ่ายเงิน โดย กฟผ. ได้พัฒนาแอปพลิเคชันนี้ให้สามารถเชื่อมโยงทั้งผู้ใช้รถอีวี สถานที่กินเที่ยว ร้านค้า และผู้ให้บริการต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้สถานีของ กฟผ. เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่กลุ่มเครือข่ายทั้งหมดนี้และยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งเครือข่ายไปพร้อม ๆ กับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถดาวน์โหลดใช้งานได้แล้ววันนี้ ทั้งระบบ iOS และ Android
อุปกรณ์ชาร์จไฟรถอีวีในราคาที่เอื้อมถึง

เครื่องอัดประจุไฟฟ้าที่สามารถชาร์จรถอีวีได้อย่างปลอดภัยในราคาที่คนไทยเอื้อมถึง ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการใช้รถอีวีในประเทศ โดย EGAT Wallbox เป็นเครื่องอัดประจุไฟฟ้ารถอีวีอัจฉริยะขนาดเล็ก ซึ่งผู้ใช้สามารถเรียกดูข้อมูลการใช้งานและสั่งการผ่านแอปพลิเคชัน โดย กฟผ. เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการจำหน่ายเพียงรายเดียวในประเทศจึงมีราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด รวมถึงให้คำปรึกษา ติดตั้ง และบำรุงรักษาโดยทีมช่างผู้เชี่ยวชาญของ กฟผ. ทำให้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ใช้รถอีวีทั้งสำหรับติดตั้งภายในที่อยู่อาศัยและพื้นที่ธุรกิจ ส่วนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็ว หรือ EGAT DC Quick Charger ขนาด 120 กิโลวัตต์ เป็นเครื่องอัดประจุไฟฟ้าฝีมือคนไทยที่ กฟผ. พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายภายในไตรมาส 3 ของปีนี้


ระบบบริหารจัดการเครือข่ายสถานีชาร์จอีวี
“BackEN” เป็นระบบบริหารจัดการเครือข่ายสถานีชาร์จอีวีตลอด 24 ชั่วโมง ที่เปรียบเสมือนผู้ช่วยเจ้าของสถานีชาร์จอีวี ทั้งการจัดการอัตราค่าไฟฟ้าและรายได้ ระบบบริหารจัดการพลังงาน การจัดการระยะไกล ระบบวิเคราะห์ทางเทคนิค โดย BackEN จะเชื่อมโยงระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดเข้าด้วยกัน ทั้งระบบผลิตและส่งไฟฟ้า สถานีชาร์จ รถอีวี และผู้ใช้รถ ทำให้เจ้าของสถานีชาร์จอีวีสามารถบริหารจัดการในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนกันยายน 2564

–
ในอนาคตอันใกล้รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนคนไทย ตลอดจนขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ช่วยให้ทุกลมหายใจของคนไทยได้มีอากาศที่ดี ไร้มลพิษอย่างยั่งยืน
–
–