กฟผ.-ปตท. พร้อมรับมือแหล่งก๊าซธรรมชาติพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA-A18) หยุดจ่ายเพื่อซ่อมบำรุงประจำปี2563 ( 29 ส.ค. – 7 ก.ย.) รวม 10 วัน มั่นใจไม่กระทบความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ โดยปตท.เตรียมน้ำมันเตาและดีเซล ไว้สำรองอย่างเพียงพอ ในขณะที่ ก๊าซเอ็นจีวี ก็มีการขนส่งจากส่วนกลางลงไปรองรับความต้องการแล้ว
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แจ้งการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA-A18) และระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย – มาเลเซีย จะนะ ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 7 กันยายน 2563 รวม 10 วัน ( ปี 2562 หยุดซ่อมบำรุง 17 วัน ตั้งแต่ 7 – 23 กรกฎาคม ) เพื่อหยุดซ่อมบำรุงรักษาประจำปี ส่งผลให้ไม่สามารถจ่ายก๊าซธรรมชาติให้โรงไฟฟ้าจะนะได้ ซึ่งปกติโรงไฟฟ้าจะนะจะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักของภาคใต้ มีกำลังผลิตทั้งสิ้น 1,476 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงประมาณวันละ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
นายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในส่วนมาตรการรองรับการหยุดจ่ายก๊าซฯ ของ กฟผ. ประกอบด้วย ด้านระบบผลิตไฟฟ้า
ได้เตรียมการให้โรงไฟฟ้าจะนะ เดินเครื่องด้วยเชื้อเพลิงสำรองคือน้ำมันดีเซล และโรงไฟฟ้ากระบี่เดินเครื่องด้วยน้ำมันเตา ซึ่งได้ทดสอบระบบเพื่อเตรียมความพร้อมของโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งยังประสานการไฟฟ้ามาเลเซีย เพื่อขอซื้อไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉิน ด้านระบบส่งไฟฟ้า ได้ตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าและอุปกรณ์สำคัญให้พร้อมใช้งาน โดยจุดที่ต้องดูแลเป็นพิเศษคือสายส่งที่เชื่อมโยงระหว่างภาคกลาง – ภาคใต้ ด้านเชื้อเพลิง ได้สำรองน้ำมันเต็มความสามารถจัดเก็บก่อนเริ่มหยุดจ่ายก๊าซฯ ซึ่งปริมาณน้ำมันจะมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ตลอดช่วงการหยุดจ่ายก๊าซ รวมทั้งสามารถรองรับ หากการทำงานล่าช้าได้มากกว่า 10 วัน และด้านบุคลากร ได้จัดเตรียมทีมฉุกเฉินและเจ้าหน้าที่ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าไว้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานกับ ปตท. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมพร้อมรองรับ หากเกิดเหตุการณ์นอกเหนือจากที่คาดการณ์หรือไฟฟ้าดับ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ในส่วนสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวีในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างของ ปตท. ทั้งหมด 12 แห่ง ครอบคลุม 4 จังหวัดได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี 4 แห่ง จ.นครศรีธรรมราช 3 แห่ง จ.สงขลา 4 แห่ง และจ.ปัตตานี 1 แห่ง นั้น ทางปตท.ได้มีการจัดสรรก๊าซฯจากพื้นที่ส่วนกลางขนส่งมายังสถานีบริการฯในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เพื่อให้มีก๊าซเอ็นจีวีจำหน่ายอย่างเพียงพอ และต่อเนื่องแล้ว
ส่วนการผลิตไฟฟ้านั้นได้จัดเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงทดแทนประกอบด้วยน้ำมันเตา 7.3 ล้านลิตรและดีเซล 11.6 ล้านลิตร ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอรองรับสถานการณ์การหยุดจ่ายก๊าซดังกล่าว