กฟผ.นำใช้รถมินิบัสไฟฟ้าในองค์กรมากที่สุดของประเทศ

1912
- Advertisment-

กฟผ.นำใช้รถมินิบัสไฟฟ้าในองค์กรมากที่สุดของประเทศ 11 คัน หวังช่วยลดฝุ่น PM2.5 พร้อมเปิดสถานีชาร์จ 23 สถานี และให้บริการประชาชนฟรี เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มวันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. ได้เริ่มผลักดันแผนส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ. อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2559 เพื่อสนองนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยเมื่อปี 2561 กฟผ. ได้เริ่มใช้งานรถมินิบัสไฟฟ้า จำนวน 1 คัน เพื่อรับส่งพนักงาน และประชาชนที่มาศึกษาดูงานและร่วมกิจกรรมที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง และจนปัจจุบัน กฟผ. ได้เช่ารถมินิบัสไฟฟ้าเพิ่มอีก จำนวน 10 คัน ซึ่งได้รับมอบเรียบร้อยแล้ว  รวมรถมินิบัสไฟฟ้าที่มีทั้งหมด จำนวน 11 คัน

วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ.

ทั้งนี้รถมินิบัสไฟฟ้าดังกล่าว กฟผ จะนำไปใช้งานรับ-ส่งพนักงาน กฟผ. และประชาชนที่มาศึกษาดูงานในพื้นที่สำนักงาน โรงไฟฟ้า เขต เขื่อน และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา โรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี สำนักงานกลาง กฟผ. และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. จ.นนทบุรี

- Advertisment -

ทั้งนี้ การใช้งานรถมินิบัสไฟฟ้าจะทดแทนการใช้งานรถมินิบัสที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซ CO2 จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซลได้ประมาณ 485 กรัม CO2/กม. และสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงได้เฉลี่ยประมาณ 2.3 บาท/กม. รวมทั้งสามารถลดการปล่อยมลพิษทางอากาศและฝุ่นละออง (PM2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนด้วย

พร้อมกันนี้ กฟผ. ยังได้ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า จำนวนทั้งสิ้น 23 สถานี เพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าใน 8 พื้นที่ดังกล่าว ซึ่งแบ่งออกเป็น สถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบธรรมดา จำนวน 11 สถานี และสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว จำนวน 12 สถานี ซึ่งประชาชนที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถเข้าร่วมโครงการนำร่องใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าของ กฟผ. ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 โดยผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่ https://goo.gl/forms/H00cGJXBg4oiKBsj1 (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2562) ทั้งนี้ กฟผ. จะดำเนินการเก็บข้อมูลการใช้งานในโครงการฯ เพื่อนำมาศึกษาแนวทางการพัฒนามาตรฐานประสิทธิภาพขั้นสูงของสถานีอัดประจุไฟฟ้า และเตรียมดำเนินการเพื่อติดฉลากเบอร์ 5 ให้กับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของ กฟผ. ต่อไป

รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ กฟผ. ได้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง โดยวิจัยร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ซึ่งมีรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง พร้อมกับชุด kit ที่มีราคาประหยัด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 โดยเน้นการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ รวมทั้ง กฟผ. ยังได้ร่วมมือกับ กฟน. กฟภ. สวทช. และ ขสมก. พัฒนา
รถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. จำนวน 4 คัน เป็นรถโดยสารไฟฟ้าต้นแบบ ด้วยการดัดแปลงเครื่องยนต์จากที่ใช้น้ำมันให้กลายเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 จากนั้นจะมีการขยายผลไปสู่การให้บริการประชาชนต่อไปในอนาคต และในปีนี้ประชาชนจะได้พบกับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่ง กฟผ. ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อกำหนดมาตรฐานและเกณฑ์ประสิทธิภาพเบอร์ 5 โดยตั้งเป้าว่าจะเริ่มติดฉลากเบอร์ 5 จักรยานยนต์ไฟฟ้าภายในเดือนกันยายน 2562

Advertisment