กฟผ.นำสื่อไทยดูงาน ศูนย์ข้อมูลด้านพลังงานไห่หนาน ประเทศจีน ชี้ให้เห็นความสำคัญในการใช้ข้อมูลรองรับการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนและวางแผนเศรษฐกิจ สอดคล้องกับทิศทางที่ กฟผ.กำลังดำเนินการผ่าน RE Forecast Center หรือ ศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
เมื่อเร็วๆนี้ นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้บริหาร กฟผ.นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์ข้อมูลด้านพลังงานไห่หนาน (Hainan Energy Data Center) เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ณ เมืองไห่โข่ว มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
โดย นายธวัชชัย กล่าวว่า ทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสีเขียว ส่งผลให้ข้อมูลด้านพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยในการวางแผนการพัฒนาพลังงานเพื่อรองรับการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนนำไปใช้เป็นตัวชี้วัดในการพยากรณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดมณฑลไห่หนานได้จัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลด้านพลังงานไห่หนาน” (Hainan Energy Data Center) เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวและคาร์บอนต่ำ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนานโยบายด้านพลังงานของมณฑลไห่หนาน อาทิ
Hainan Energy Guarantee Operation Dispatching Monitoring System Platform แพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลด้านพลังงานต่าง ๆ ของมณฑลไห่หนาน ทั้งการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแหล่งพลังงานอื่น ๆ รวมถึงข้อมูลการใช้พลังงานของประชากรและบริษัทอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอดีต เพื่อช่วยในการกำหนดแนวทางการวางแผนพัฒนาพลังงานต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ
Hainan Free Trade Port (Energy) Economic Insight Platform แพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรมในมณฑลไห่หนาน ร่วมกับข้อมูลทางเศรษฐกิจและการค้าจากหน่วยงานภาครัฐ สำหรับจัดทำนโยบายที่ใช้แก้ปัญหาของแต่ละอุตสาหกรรม
Hainan Energy and Carbon Intelligent Management Platform แพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่ต่าง ๆ
นายธวัชชัย กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย กฟผ. ได้จัดตั้ง RE Forecast Center หรือศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยนำข้อมูลการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 29 แห่ง ที่เชื่อมต่อกับระบบของ กฟผ. มาวิเคราะห์และประมวลผล จากนั้นจึงนำผลการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไปใช้วางแผนการผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ เป็นการนำข้อมูลด้านพลังงานมาใช้วิเคราะห์และวางแผน ตอบโจทย์การบริหารจัดการพลังงานสีเขียวในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม
“ข้อมูลการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระยะเริ่มต้นมาจาก SPP เป็นหลัก หากในอนาคต สามารถนำข้อมูลการผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากหน่วยงานอื่น ๆ มาร่วมประมวลผลได้ จะยิ่งทำให้การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประเทศมีความแม่นยำสูงขึ้น ส่งผลดีต่อการบริหารจัดการพลังงานของประเทศในภาพรวมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
จากการดูงาน ศูนย์ข้อมูลด้านพลังงานไห่หนาน ทำให้ทราบว่า จีนยังมีแผนปรับปรุงโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงมากขึ้นเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped Storage Hydropower) จำนวนมาก เนื่องจากเป็นระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำเมื่อเทียบกับระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบอื่น ๆ โดยนำพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำสูบน้ำไปกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำตอนบน และปล่อยกลับมาผลิตไฟฟ้าในเวลาที่ต้องการ ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าทดแทนพลังงานหมุนเวียนได้อย่างทันท่วงที
ในส่วนของประเทศไทย ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 3 แห่ง รวม 1,531 เมกะวัตต์ คือ
– โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี กำลังผลิต 360 เมกะวัตต์
– โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนภูมิพล จ.ตาก กำลังผลิต 171 เมกะวัตต์
– โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์
และ กฟผ. มีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับในอนาคตเพิ่มอีก 3 แห่ง ประมาณ 2,480 เมกะวัตต์ ได้แก่
– โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์
– โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี กำลังผลิต 900 เมกะวัตต์
– โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนกะทูน จ.นครศรีธรรมราช กำลังผลิต 780 เมกะวัตต์
โดยสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ กฟผ. ต้องเร่งพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ ให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการเมื่อพลังงานหมุนเวียนหายไปจากระบบ ซึ่งการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า ในต้นทุนที่เหมาะสม ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ