การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ทุ่มงบ230ล้านบาท เพื่อร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)หรือ สทน.สร้างองค์ความรู้พัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน หวังต่อยอดสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยุคที่ 3 ที่ไม่ปล่อยสารกัมมันตรังสีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขนาด 3,000-5,000 เมกะวัตต์ ในอนาคตเพื่อสร้างความมั่นคงไฟฟ้าให้กับประเทศ
วันนี้ (24 เมษายน 2562) นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน กับ ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) โดยมี ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ รองผู้อำนวยการ (วิชาการ) สทน. ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัยนวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจ กฟผ. นายสาธิต ครองสัตย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กฟผ. และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องประชุม 201 อาคาร ท.100 สำนักงานใหญ่ กฟผ. อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
โดย นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า MOU ดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี โดย กฟผ. จะสนับสนุนงบประมาณ 230 ล้านบาท เพื่อร่วมกันศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม การยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน การร่วมกันจัดอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการด้านดังกล่าวแก่บุคลากรของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เฉพาะทาง รวมถึงร่วมมือกันออกแบบและพัฒนาระบบประกอบของเครื่องโทคาแมค ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการกักเก็บพลาสมาด้วยสนามแม่เหล็กและใช้ในการศึกษาวิจัยเรื่องเทคโนโลยีฟิวชัน โดยผสานความเชี่ยวชาญด้านวิศกรรมไฟฟ้าและการออกแบบระบบไฟฟ้าของ กฟผ. กับความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของ สทน. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันของประเทศต่อไป
ทั้งนี้กฟผ.ยังคาดหวังด้วยว่า เทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน จะพัฒนาไปสู่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยุคใหม่ที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและไม่เกิดสารกัมมันตรังสี ในอีก 40-50 ปีข้างหน้า ที่จะสร้างความมั่นคงพลังงานให้กับประเทศได้ โดยที่มีค่าไฟฟ้าที่ถูกลง เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ
นายพัฒนา กล่าวว่าปัจจุบัน การสร้างโรงไฟฟ้าของไทยถือว่าเข้าสู่ยุคที่ 2 ที่นำพลังงานทดแทนมาผลิตไฟฟ้า จากยุคแรกที่ใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิง และในอนาคตเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้าจะก้าวสู่ยุคที่ 3 คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เทคโนโลยีใหม่พลาสมาและฟิวชัน ที่เบื้องต้นคาดว่าจะต้องเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ประมาณ 3,000-5,000 เมกะวัตต์ ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงไปในโลกอนาคต
ปัจจุบันหลายประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก เช่น ฝรั่งเศส สหรัฐฯ อังกฤษ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และเกาหลี ได้รวมตัวกันพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชั่น มาสร้างเป็นเครื่องปฏิกิริยาฟิวชัน และจะต่อยอดเป็นเครื่องกำเนิดความร้อน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)หรือ สทน. กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาประมาณ 5 ปีภายใต้ความร่วมมือ ในการสร้างองค์ความรู้นั้น จะต้องใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณแผ่นดินส่วนหนึ่งและ กฟผ.สนับสนุนอีก 230 ล้านบาท
โดยเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน สามารถนำไปใช้ประโยชน์หลากหลายด้าน อาทิ การผลิตวัสดุทนความร้อนสูงเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม การใช้เครื่องพลาสมาทางการแพทย์ ตลอดจนการเกษตร และการพัฒนาระบบควบคุมความเร็วสูง ในอนาคตอาจสามารถใช้เทคโนโลยีฟิวชัน รวมไปถึงการเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาดและใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้