กฟผ.ชูโรงไฟฟ้า SMR ตอบโจทย์เป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ

527
- Advertisment-

เตรียมความพร้อมประเทศไทย สู่เป้าหมาย Carbon Neutrality  กฟผ.ชู โรงไฟฟ้า SMR เป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญโดยพาคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงไฟฟ้า Hainan Changjiang NPP ณ มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงระหว่างวันที่ 3 – 8 พฤศจิกายน 2567 หวังให้เกิดความเข้าใจ และช่วยสื่อสารข้อเท็จจริงสู่ประชาชน

คณะศึกษาดูงาน นำโดยนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน และนายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ พร้อมด้วยสื่อมวลชนจากหลายสำนักทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ 

โดยข้อมูลที่น่าสนใจเบื้องต้น มณฑลไห่หนานหรือเกาะไหหลำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนที่รัฐบาลกลางจีนตั้งเป้าหมายให้ภายในปี 2568 พลังงานที่ใช้ในมณฑลไห่หนาน 50% ต้องมาจากพลังงานสะอาด มุ่งสู่การเป็นเกาะพลังงานสะอาด (Clean Energy Island: CEI) ภายในปี 2573 โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เป็น 54% พลังงานแสงอาทิตย์ 20% และพลังงานลม 15%  ซึ่งโรงไฟฟ้า Hainan Changjiang NPP ของบริษัท Hainan Nuclear Power Company (HNPC) เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างซึ่งใช้ชื่อว่า ACP100 หรือ Linglong One  มีกำลังผลิต 125 เมกะวัตต์ (MWe) 

- Advertisment -
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวบรรยายถึงภาพรวมของการนำตัวแทนคณะสื่อมวลชนมาศึกษาดูงานในครั้งนี้  ว่า โรงไฟฟ้า SMR  เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยมีการออกแบบให้มีขนาดเล็กลง มีความปลอดภัยสูงขึ้น ด้วยการลดความซับซ้อนของอุปกรณ์ ออกแบบให้ระบบเชื้อเพลิงและระบบผลิตไอน้ำอยู่ภายในโมดูลปฏิกรณ์แบบสำเร็จรูปจากโรงงาน  โดยใช้เทคโนโลยีน้ำอัดแรงดัน หรือ PWR (Pressurized Water Reactor) ซึ่งใช้น้ำเป็นตัวกลางระบายความร้อน สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ระบบระบายความร้อนไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า ส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้คือ ยูเรเนียมออกไซด์ (ความเข้มข้นของ U-235 น้อยกว่า 5%) ปล่อยพลังงานความร้อนจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงนานถึง 24 เดือน มีอายุการใช้งานถึง 60 ปี โดยใช้ขนาดพื้นที่ของโรงไฟฟ้าเพียง 125 ไร่

ปัจจุบันมี 18 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา  รัสเซีย จีน  ญี่ปุ่น แคนาดา  แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร  เกาหลีใต้   เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สวีเดน  อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ ซาอุดิอาระเบีย อาร์เจนติน่า อินโดนีเซีย ที่มีการออกแบบและพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR  มากกว่า 80 รูปแบบ  และ โรงไฟฟ้า Linglong One ในมณฑลไห่หนาน ที่ กฟผ.พาคณะสื่อมวลชน มาดูงานถือเป็นหนึ่งในรูปแบบโรงไฟฟ้า SMR  ที่เป็น Pilot Project  ของจีน ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ประมาณปี 2569 

“ จุดประสงค์ที่นำคณะสื่อมวลชน จากประเทศไทย เดินทางมาดูงาน โรงไฟฟ้า SMR ครั้งนี้ เพราะ กฟผ. มองว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่น่าสนใจ ที่หลายประเทศกำลังอยู่ระหว่างออกแบบและพัฒนาโดยหวังว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้พลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงในทุกๆวัน โดยไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในขณะที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ ของไทย มีการบรรจุโรงไฟฟ้า SMR เอาไว้ในช่วงปลายแผน กฟผ.จึงคาดหวังบทบาทของสื่อมวลชนจะช่วยสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน นอกจากนี้ กฟผ.ยังจะมีความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะบรรจุเรื่องโรงไฟฟ้าSMR เข้าไปอยู่ในหลักสูตรสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างกระบวนการสร้างการยอมรับในกลุ่มเยาวชน  “ นายเทพรัตน์ กล่าว 

กระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจและการยอมรับของประชาชนเป็นหัวใจของการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 

นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ.

ด้าน นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวภายหลังการนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงไฟฟ้า Hainan Chanjiang SMR ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กฟผ. ได้ติดตามเทคโนโลยี SMR มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากประเทศไทยจะเริ่มพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องเตรียมความพร้อม เริ่มตั้งแต่การให้ความรู้กับเยาวชนในระดับประถมและมัธยม การเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายและ การกำกับดูแล 

นายหวง เล่ย (Mr. Huang Lei) รองประธานบริษัท Hainan Nuclear Power Company (HNPC) 

นายหวง เล่ย (Mr. Huang Lei) รองประธานบริษัท Hainan Nuclear Power Company (HNPC)  กล่าวว่า พลังงานนิวเคลียร์จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อการพัฒนาพลังงานสะอาดของจีนในอนาคต โดยโรงไฟฟ้า SMR เป็นหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของจีนให้มีขนาดเล็กลง แต่ยกระดับความปลอดภัยให้สูงขึ้น โดยออกแบบให้ระบบเชื้อเพลิงและระบบผลิตไอน้ำอยู่ภายในโมดูลเดียวกัน สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุผิดปกติโดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการได้นานถึง 72 ชั่วโมง รวมถึงมีพื้นที่ในการจัดเตรียมแผนฉุกเฉินลดลง โดยมีรัศมีประมาณ 500 เมตรเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2569

โดยมองว่า กระบวนการสำคัญของการพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR คือ การสร้างความรู้และการยอมรับของประชาชน ซึ่งใช้เวลาเกือบ 10 ปี มุ่งเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับโรงไฟฟ้า SMR และสิทธิประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับเมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในมณฑลไห่หนานเริ่มดำเนินการ ยกตัวอย่างเช่น การจัดสรรเงินรายได้จากการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าเพื่อเป็นทุนการศึกษาของชุมชนท้องถิ่น ก่อนจะนำไปจัดทำรายงานประเมินความมั่นคงของชุมชนท้องถิ่น

ไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ในประเทศ

ดร.นทีกูล เกรียงชัยพร วิศวกรระดับ 10 กฟผ. ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ร่วมเดินทางกับคณะ อธิบายเพิ่มเติม ถึง ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับว่า เรื่องโลกร้อนเป็นกระแสที่โลกให้ความสำคัญและประเทศไทยก็มีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนจกสุทธิเป็นศูนย์ ที่ประกาศไว้ต่อประชาคมโลก  ในขณะที่การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นยังไม่ตอบโจทย์คุณภาพของไฟฟ้าที่จะจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้ง 7 วัน ดังนั้น เทคโนโลยี SMR จึงเป็นคำตอบหนึ่งที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้  การเตรียมตัวให้พร้อมทางด้านบุคคลากรให้มีความรู้ สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การเตรียมพร้อมเรื่องกฏหมาย กฏระเบียบที่จะมารองรับ จึงมีประโยชน์ต่อภาพรวม ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่ต้องการพลังงานสะอาด   ช่วยเรื่องการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่มีระเบียบว่าด้วยการปล่อยคาร์บอนเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า  ในขณะที่ประชาชนในเชิงพื้นที่ ที่จะมีการพัฒนาโครงการ ก็จะได้รับประโยชน์จากสิทธิประโยชน์พิเศษต่างๆ ที่จะเป็นข้อตกลงร่วมกัน 

ดร.นทีกูล เกรียงชัยพร ผู้เชี่ยวชาญ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จาก กฟผ.
Advertisment