กฟผ. จับมือ CNOS ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี มุ่งเตรียมความพร้อมพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR 

323
- Advertisment-

กฟผ. และบริษัทยักษ์ใหญ่จีน CNOS ร่วมลงนาม MOU แลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการนำโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) มาใช้ในไทย มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านการจัดหาพลังงานระยะยาว

นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ Mr.Qiao Gang, Vice President of China National Nuclear Corporation Overseas Ltd. (CNOS) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ มุ่งส่งเสริมพลังงานสะอาด สร้างความมั่นคงและความยั่งยืนด้านการจัดหาพลังงาน ณ ห้อง Press Conference ชั้น 3 อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ. เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา

นายทิเดช เปิดเผยว่า กฟผ. มีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งพลังงานนิวเคลียร์เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าสูง ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตไฟฟ้า สามารถช่วยเพิ่มความมั่นคงและความยั่งยืนด้านการจัดหาพลังงานในระยะยาวได้ ปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างศึกษาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor: SMR) ตลอดจนการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย ซึ่ง SMR เป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ในแผนพลังงานชาติ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานในอนาคตและเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน นอกจากนี้โรงไฟฟ้า SMR ยังมีขนาดเล็กจึงมีความยืดหยุ่นและความปลอดภัยสูง โดยออกแบบและผลิตเป็นโมดูลในโรงงานแล้วนำไปติดตั้งในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาการก่อสร้างได้

- Advertisment -

ด้าน Mr.Qiao Gang, Vice President of CNOS กล่าวว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแล้ว 57 เครื่อง (Unit) และกำลังก่อสร้างหรืออยู่ในระหว่างขออนุมัติจากรัฐบาล 36 เครื่อง โดยเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของ China National Nuclear Corporation (CNNC) ที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแล้ว 26 เครื่อง และอยู่ระหว่างก่อสร้างหรืออนุมัติ 18 เครื่อง ซึ่ง CNNC เป็นบริษัทแม่ของ CNOS และเป็นบริษัทเดียวในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ดำเนินธุรกิจด้านนิวเคลียร์อย่างครบวงจรตั้งแต่ การทำเหมืองยูเรเนียมที่เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ การออกแบบและก่อสร้าง จนถึงการจัดการเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว และเป็นกำลังหลักในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะการพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ที่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่ง CNNC อยู่ระหว่างการก่อสร้าง SMR แห่งแรก โดยกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในสิ้นปี 2568 สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งเมื่อทราบว่า กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย มีความมุ่งมั่นในการสำรวจและพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศไปสู่ความยั่งยืน ตามแนวทางที่รัฐบาลไทยกำลังพิจารณาและวางแผนการใช้โรงไฟฟ้า SMR ในทศวรรษหน้า เนื่องจากพลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาด มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ กฟผ. และ CNOS จะร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ และโรงไฟฟ้า SMR ทั้งในด้านเชื้อเพลิง งานวิศวกรรม งานก่อสร้าง การดำเนินงานและการบำรุงรักษา รวมถึงการจัดการกากกัมมันตรังสีและเชื้อเพลิงใช้แล้ว โดย CNOS จะให้การสนับสนุนการศึกษาและเตรียมการพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ของ กฟผ. เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ด้านพลังงานนิวเคลียร์และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่การดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

Advertisment