การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามความร่วมมือ(MOU)กับ การเคหะแห่งชาติ(กคช.) “ติดฉลากบ้านเบอร์ 5 ในโครงการฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงานสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย พร้อมขยายขอบเขตชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืน “ ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ด้วยการติดตั้งแพลตฟอร์มรองรับการตรวจสอบการใช้พลังงานของตัวเองผ่านมือถือ และเป็นช่องทางสร้างตลาดออนไลน์ชุมชนร่วมกัน ภายในปี 2568 กฟผ.ระบุตั้งแต่ปี 2560 ติดฉลากเบอร์ 5ให้บ้านของ กคช.แล้ว 14 โครงการ คาดช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ 3.6 ล้านหน่วยต่อปี ลดค่าไฟฟ้าผู้อยู่อาศัยได้ 14.4 ล้านบาทต่อปี
วันนี้ 2 ก.ย. 2563 นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้ลงนามความร่วมมือ(MOU) ร่วมกับนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ(กคช.) ในโครงการฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงานสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย และโครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)และนายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการ กฟผ. และ กรรมการ กคช. รวมทั้งผู้บริหารทั้งสองหน่วยงานเข้าร่วมงาน
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ดำเนินโครงการฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงานสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งปัจจุบันได้ยกระดับเป็นบ้านประหยัดพลังงานเบอร์ 5 ในโครงการบ้านที่อยู่อาศัยสร้างใหม่สำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางของ กคช. รวมแล้ว 14 โครงการ คาดว่าเมื่อดำเนินการสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถส่งผลให้ประเทศประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 3.6 ล้านหน่วยต่อปี ลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของผู้อาศัยได้ประมาณ 14.4 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 1,800 ตันต่อปี โดยได้มีการเปิดตัวโครงการนำร่องบ้านเบอร์ 5 แห่งแรก ณ โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนเชิงสังคม ชลบุรี (บ่อวิน) ระยะที่ 2 และ กฟผ. ยังเป็นที่ปรึกษาด้านพลังงานให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชนอื่นของ กคช. อีกด้วย
สำหรับปี 2563 กฟผ. และ กคช. ได้ร่วมกันจัดทำโครงการเพิ่มเติมคือโครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือ Smart and Sustainable Community for Better Well-being (SSC) สำหรับบ้านและอาคารเก่าในโครงการของ กคช. ที่มีอยู่กว่า 7 แสนยูนิต ให้เกิดการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ เช่น การนำแพลตฟอร์มมาช่วยบริหารจัดการพลังงานของชุมชน หรือบ้านแต่ละหลัง ซึ่งผู้อยู่อาศัยสามารถดูแลการใช้พลังงานของตัวเองผ่านทางแอพพลิเคชั่นในมือถือได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ กฟผ. จะวางแพลตฟอร์มสำหรับโครงการดังกล่าว เช่น การบูรณาการระบบแสดงผลและเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ หรือ Sensor for all การดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พร้อมทั้งบริหารจัดการพลังงานองค์รวมแบบอัจฉริยะ (Smart Energy Solution) จัดแสดงผ่าน Dashboard หรือ Application ให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเห็นถึงข้อมูลการใช้พลังงานและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพได้
นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความรู้ สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน โดยการนำแพลตฟอร์มมาใช้จะช่วยให้ชุมชนทั้งหลายกลายเป็นตลาดออนไลน์ระหว่างกันได้ ในรูปแบบ Online for Life เพื่อสร้างทักษะอาชีพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ผ่านคลิปวิดีโอออนไลน์ และรูปแบบ On-ground for life ตลาดนัดสินค้าชุมชนของ กฟผ. และ กคช. เป็นต้น โดยจะดำเนินการนำร่อง ณ โครงการบ้านเอื้ออาทรบางโฉลง จังหวัดสมุทรปราการ ในเร็วๆนี้ โดยโครงการดังกล่าวจะดำเนินการจนถึงปี 2568
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่า ความร่วมมือโครงการฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงานสำหรับที่อยู่อาศัยสอดคล้องกับ แผนยุทธศาสตร์การเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2565 ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
ซึ่งโครงการบ้านเบอร์ 5 ระหว่าง กคช. และ กฟผ. นี้ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สร้างโอกาสให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ได้เข้าถึงที่อยู่อาศัยที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในครัวเรือน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดการพัฒนาการออกแบบที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการสร้างงานและสร้างอาชีพที่เกี่ยวข้องในภาคอสังหาริมทรัพย์ในระดับประเทศ โดยตั้งแต่ปี 2560 -2562 ที่ผ่านมา กคช. ได้ดำเนินการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยบ้านเบอร์ 5 จำนวน 14 โครงการ รวม 3,411 หน่วย
“ปัจจุบัน กคช. และ กฟผ. รวมถึงภาคีที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ได้ร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในโครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แนวคิด 4 มิติ ประกอบด้วย การมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบ ความมั่นคงของระบบนิเวศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสุขภาวะทางสังคม โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมในการพัฒนาชุมชนที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กคช.เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย พัฒนาชุมชน และขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ผู้ว่าการ กคช. กล่าวเพิ่มเติม