ทีมนักประดิษฐ์ กฟผ. คว้า 6 รางวัล จากเวที “47th International Exhibition of Inventions Geneva” นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส อาทิ ผลงานอุปกรณ์ควบคุมอเนกประสงค์แบบโปรแกรมได้ และยานสำรวจใต้น้ำ โดยเป็นผลงานที่สร้างประโยชน์กับทั้ง กฟผ. สังคมและชุมชน รวมไปถึงเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าให้ประเทศ ตามวิสัยทัศน์ นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าเพื่อชีวิตที่ดีกว่า
ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า คณะนักวิจัยและนักประดิษฐ์ กฟผ. ได้นำผลงานการประดิษฐ์คิดค้น จำนวน 4 ผลงาน เข้าร่วมประกวดในเวที “47th International Exhibition of Inventions Geneva” ระหว่างวันที่ 10-14 เมษายน 2562 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และสามารถคว้ารางวัลรวม 6 รางวัล ได้แก่ รางวัลเหรียญทอง 1 รางวัล รางวัลเหรียญเงิน 3 รางวัล และรางวัลพิเศษจากสาธารณรัฐประชาชนจีน 1 รางวัล และไต้หวัน 1 รางวัล
สำหรับรางวัลเหรียญทอง และรางวัลพิเศษ จากหน่วยงาน International Strategic Technology Alliance สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ ผลงานอุปกรณ์ควบคุมอเนกประสงค์แบบโปรแกรมได้ (EGAT-Universal Controller (EGAT-UNICON)) จากฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า ซึ่งพัฒนาอุปกรณ์ควบคุมขนาดเล็กที่สามารถเขียนโปรแกรมได้ มีฟังก์ชันการทำงานเทียบเท่าอุปกรณ์ควบคุม (Programmable Logic Controller, PLC) โดยมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าอุปกรณ์ PLC ถึง 10 เท่า สามารถใช้งานทดแทนอุปกรณ์ PLC แก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท และมีแผนจะใช้งานในโรงไฟฟ้าพลังน้ำอีก 14 ยูนิต ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้กว่า 15 ล้านบาทต่อปี
รางวัลเหรียญเงิน และรางวัลพิเศษ จากหน่วยงาน Taiwan Invention Association ของไต้หวัน ได้แก่ ผลงาน เอ็ม ซี อาร์ ยานสำรวจใต้น้ำ (MCR Underwater Surveyor) จากสังกัดโครงการเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า บริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด ซึ่งพัฒนาอุปกรณ์สำรวจใต้น้ำขนาดเล็กที่ควบคุมด้วยรีโมท เพื่อใช้สำรวจสภาพตะกอนใต้น้ำในระบบผลิตน้ำของโรงไฟฟ้าราชบุรี ทดแทนวิธีการเดิมที่ต้องหยุดระบบเพื่อให้นักประดาน้ำสำรวจ มีต้นทุนการสร้างเพียง 30,000 บาท สามารถลดค่าใช้จ่ายในการสำรวจกว่า 100,000 บาทต่อปี
ส่วนรางวัลเหรียญเงิน จากผลงาน ระบบรวบรวมจัดเก็บข้อมูลหม้อแปลงไฟฟ้าแบบออนไลน์และมอนิเตอร์ริ่ง (Real-time Transformer Monitoring & Diagnostic System) จากฝ่ายระบบควบคุมและป้องกัน และฝ่ายบริหารจัดการสินทรัพย์ระบบส่ง เป็นการพัฒนาระบบ Transformer On-line Monitoring มาช่วยตรวจสอบสภาพของหม้อแปลงได้ตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องปลดหม้อแปลง อีกทั้งสามารถแจ้งเตือนก่อนที่หม้อแปลงจะเกิดความเสียหายได้โดยอัตโนมัติ ช่วยจัดการแผนการบำรุงรักษาหม้อแปลงได้อย่างเหมาะสมและลดต้นทุนการบำรุงรักษา ปัจจุบันติดตั้งให้กับหม้อแปลง 500 kV แล้ว 3 เครื่อง และพร้อมขยายผลรวมทั้งสิ้น 87 เครื่อง
และจากผลงาน ชุดตรวจสอบการลัดวงจรในโรเตอร์ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator Rotor Short-Turn Detector) จาก ฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า เพื่อลดปัญหาการลัดวงจรในโรเตอร์ที่จะสร้างความเสียหายแก่เครื่องกำเนิดไฟฟ้า จึงได้พัฒนาชุดตรวจสอบดังกล่าว ทดแทนวิธีการเดิมที่ต้องถอดเข้าถอดออกอุปกรณ์ ซึ่งยุ่งยากและใช้เวลานาน โดยชุดตรวจสอบทำให้สามารถเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงลดค่าสูญเสียโอกาสในการขายไฟ คิดเป็นมูลค่ากว่า 35 ล้านบาท ปัจจุบัน ได้ติดตั้งใช้งานชุดตรวจสอบแล้วกว่า 11 เครื่อง