สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จับมือรัฐ-เอกชน มอบรางวัล “CEO Econmass Awards 2024” ปีที่ 3 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คว้ารางวัลสุดยอด CEO รัฐวิสาหกิจสาขา Environment ระบุที่ผ่านมา กฟผ. ดูแลค่ามาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมได้สูงกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด พร้อมเดินหน้าลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สนองนโยบายรัฐสู่ Net Zero เร่งใช้พลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้ามากขึ้น และพัฒนาระบบสายส่งรองรับพลังงานทดแทนไปพร้อมกัน
วันที่ 30 ต.ค. 2567 สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประกาศรางวัล “CEO Econmass Awards 2024” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อประกาศเกียรติคุณ ยกย่อง และเชิดชูเกียรติผู้บริหารภาคเอกชน ที่สามารถนำพาองค์กรก้าวขึ้นสู่ธุรกิจชั้นนำของประเทศ และยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับภาคธุรกิจในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันสู่ระดับสากล และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของไทย
สำหรับรางวัล CEO Econmass Awards 2024 แบ่งเป็น 5 ประเภทรางวัล ได้แก่ 1.รางวัลสุดยอดซีอีโอรุ่นใหญ่ 2.รางวัลสุดยอดซีอีโอรุ่นกลาง 3.รางวัลสุดยอดซีอีโอเอสเอ็มอี 4.รางวัลสุดยอดซีอีโอรัฐวิสาหกิจ และ 5.รางวัลซีอีโอขวัญใจสื่อมวลชน รวม 18 รางวัล
ทั้งนี้ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับรางวัลสุดยอด CEO รัฐวิสาหกิจสาขา Environment
นายเทพรัตน์ กล่าวว่า การที่ กฟผ. ได้รับรางวัลสุดยอด CEO รัฐวิสาหกิจสาขา Environment นี้ ต้องขอบคุณทีมงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดที่สามารถช่วยดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งนี้ กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ดูแลด้านการจัดการพลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก สังกัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งในส่วนของกิจการพลังงานก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง ดังนั้นนอกจาก กฟผ.จะดูแลด้านความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังต้องดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องดูแลควบคู่กันไป
กฟผ. ทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าและให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ในอดีตสิ่งแวดล้อมก็มักเน้นเรื่องของค่าการปล่อยมลพิษต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ. ก็ได้ดูแลมาอย่างต่อเนื่องและทำได้ดีกว่าค่ามาตรฐาน รวมถึงดีกว่าที่กฎหมายกำหนดด้วย แต่ปัจจุบันสังคมมุ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมในด้านของค่าคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น ดังนั้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจึงต้องมีบทบาทมากขึ้น ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลก็ยังมีความสำคัญและจำเป็นอยู่
ฉะนั้นจากกรณีที่ กฟผ. มีบทบาท ทั้งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าและเป็นผู้บริหารจัดการระบบไฟฟ้าในไทย จึงต้องหาแนวทางลดการปล่อยคาร์บอนฯ และผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ดังนั้นกระบวนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ต้องทำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด มีการปล่อยของเสียให้น้อยที่สุดและประหยัดพลังงานในทุกมิติ รวมทั้งเพิ่มไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น
ส่วนการดูแลระบบไฟฟ้านั้น ในแง่นโยบายรัฐที่จะเดินหน้าไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ( Net Zero ) นั้น ทาง กฟผ. ซึ่งเป็นกลไกในการที่จะสนองนโยบายของรัฐ ก็จะมีการนำพลังงานทดแทนเข้ามามีส่วนในการผลิตไฟฟ้าในไทยให้มากขึ้น กฟผ. มีบทบาทที่ต้องดูแลเรื่องความมั่นคง จึงต้องบริหารจัดการระบบด้วยการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (Grid Modernization) สำหรับรองรับพลังงานทดแทนต่างๆ ที่มากขึ้นเรื่อยๆ