กฟผ.ขาดสภาพคล่องจนต้องกู้เงินลงทุนหลังแบกภาระค่าไฟแทนประชาชนไว้ชั่วคราวกว่า 60,000 ล้าน

1679
- Advertisment-

กฟผ.แบกรับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนไปก่อนรวมแล้วกว่า 60,000 ล้านบาทซึ่งกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ต้องกู้เงินมาลงทุนแล้ว 25,000 ล้านบาท ในขณะที่จำเป็นต้องนำเข้าSpot LNG ที่ยังมีราคาแพงอีก2 คาร์โก้รวม 1.3 แสนตันเพื่อเสริมความมั่นคงไฟฟ้าช่วงเดือน เมษายน – พฤษภาคม 2565

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าว​พลังงาน ( Energy News​Center-ENC​ )​รายงานว่า ในการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที ที่มีปัจจัยสำคัญ​มาจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ในงวด เดือน ก.ย.-ธ.ค. 64 ตัวเลขต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงนั้นสูงกว่าที่ ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)​คำนวณไว้ ซึ่งได้ให้ทาง กฟผ. แบกรับภาระต้นทุนช่วยประชาชนไปก่อนแล้วประมาณ 38,000 ล้านบาท

โดยการแบกรับภาระดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของ กฟผ. และกระทรวงพลังงานได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้มีมติเห็นชอบให้ กฟผ.กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง ในปี 2565 – 2567 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาท โดยวิธีการจัดหาเงินกู้ในรูปแบบ Term Loan อายุไม่เกิน 3 ปี ไปแล้ว

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามในการคำนวณค่าเอฟที งวด ม.ค.-เม.ย.65 ทาง กกพ. อนุมัติให้มีการปรับขึ้นค่าเอฟทีโดยไม่เป็นไปตามต้นทุนจริง จึงทำให้ กฟผ.ต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 60,000 ล้านบาท

โดยใน งวด พ.ค.-ส.ค. 65 ที่ กกพ.ก็ยังอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าเอฟที ต่ำกว่าต้นทุนที่เป็นจริง จึงทำให้มีแนวโน้มที่ กฟผ. จะต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 60,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การคำนวณค่าเอฟทีงวด พ.ค.- ส.ค. 2565 หากจะปลดภาระที่ กฟผ.รับแทนประชาชนชั่วคราว ทั้งหมด จะต้องมีการปรับขึ้นค่าเอฟที ถึง 129.91 สตางค์ต่อหน่วยหรือคิดเป็นเงินประมาณ 80,193 ล้านบาท แต่ กกพ.อนุมัติให้ปรับขึ้นเพียง 23.38 สตางค์ต่อหน่วย โดยภาระที่ กฟผ.ช่วยแบกเอาไว้ก่อนนี้จะทยอยจ่ายคืนให้ในค่าเอฟทีงวดถัดๆไป เมื่อสถานการณ์​ราคาเชื้อเพลิงปรับตัวลดลง

ด้านนายกิตติ เพ็ชรสันทัด รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะประธานศูนย์ติดตามสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานของ กฟผ. เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตพลังงานโลกยังทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ จึงได้ดำเนินการตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน พ.ศ. 2565

โดยเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 กฟผ. ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เฉพาะรายที่ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

นอกจากนี้ กฟผ. จะเร่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รูปแบบตลาดจร (Spot) จำนวน 2 ลำเรือ ในช่วงเดือน เมษายน – พฤษภาคม 2565 ตามมติ กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 16/2565 เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีปริมาณนำเข้าประมาณ 65,000 ตันต่อลำเรือ เพื่อใช้ทดแทนเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาสำหรับผลิตไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและสูงสุดในรอบ 7 ปี บวกกับการคาดการณ์ความสามารถในการจัดส่งน้ำมันของผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ของกรมธุรกิจพลังงาน ว่า ในเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีปริมาณน้ำมันไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 5 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งการจัดหา LNG ครั้งนี้ จะช่วยเสริมความมั่นคงระบบพลังงานของประเทศ และทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าลดลงประมาณ 500 ล้านบาท
เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ราคาSpot LNG อ้างอิงจากตลาดJKM เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 14 เม.ย 65 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 29.37 เหรียญ​สหรัฐต่อล้านบีทียู โดยยังเป็นราคาที่สูงกว่า ราคาก๊าซจากอ่าวไทย และสูงกว่าราคาLNGตามสัญญาระยะยาวของ ปตท. อยู่มาก ซึ่งต้นทุนเชื้อเพลิงจากLNGนำเข้าที่มีราคาสูงดังกล่าว จะถูกส่งผ่านไปให้ผู้ใช้ไฟฟ้า ในการคำนวณค่าเอฟทีงวดต่อไป

Advertisment