การไฟฟ้านครหลวง(กฟน. ) เตรียมเสนอปรับเกณฑ์โครงการโซลาร์ภาคประชาชนใหม่ โดยขยายข้อจำกัดด้านหม้อแปลงไฟฟ้า ให้สามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้มากกว่า 15% ของกำลังหม้อแปลงไฟฟ้า 1 ลูกหวังดึงดูดประชาชนสมัครเข้าร่วมโครงการให้มากขึ้น หลังมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการคิดเป็นปริมาณไฟฟ้าเพียง 3 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าเป้าหมายที่ กฟน.จะรับซื้อที่ 30 เมกะวัตต์
นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) เปิดเผยว่า กฟน.เตรียมส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามาสมัครร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนปี 2562 ได้มากขึ้น หลังจากพบว่าปัจจุบัน กฟน. มียอดผู้สมัครเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ปี 2562 เพียง 3 เมกะวัตต์ จากโควตาที่ กฟน.เปิดรับ 30 เมกะวัตต์ โดยเปิดรับมาตั้งแต่24 พ.ค. 2562 และจะปิดรับสมัครสิ้นเดือน ธ.ค.2562
ทั้งนี้คาดว่าเกิดจากปัจจัยสภาพพื้นที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯนนทบุรี และสมุทรปราการ ของประชาชนบางแห่งไม่เหมาะสมในการติดตั้งโซลาร์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) ซึ่งไม่ใช่ทุกบ้านที่ติดตั้งได้ ประกอบกับการคืนทุนช้า ทำให้ยอดการสมัครยังไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม กฟน. กำลังอยู่ระหว่างการหารือเพื่อปรับเกณฑ์ข้อจำกัดด้านหม้อแปลงไฟฟ้าใหม่ จากปัจจุบันกำหนดให้หม้อแปลงไฟฟ้า 1 ลูก จะสามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ไม่เกิน 15% ของกำลังหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งอาจจะมีการพิจารณาขยายเกณฑ์ 15% ดังกล่าวให้เพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนสนใจเข้ามาสมัครมากขึ้น ทั้งนี้หากยอดการสมัครโซลาร์ภาคประชาชนในส่วนของ กฟน.ไม่ถึง 30 เมกะวัตต์ คาดว่าทางกระทรวงพลังงานอาจต้องกำหนดกรอบกติกากันใหม่
สำหรับโครงการโซลาร์ภาคประชาชนในปี2562 ได้กำหนดเป้าหมายปริมาณรับซื้อรวม100 เมกะวัตต์(1แสนกิโลวัตต์) แบ่งพื้นที่ดำเนินการออกเป็น การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) จำนวน30 เมกะวัตต์ ครอบคลุม3 จังหวัดได้แก่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) จำนวน70 เมกะวัตต์ ครอบคลุม74 จังหวัดที่เหลือ โดยกำหนดให้ผู้สมัครต้องมีกำลังผลิตติดตั้งครัวเรือนละไม่เกิน10 กิโลวัตต์(kWp) กำหนดอัตราราคารับซื้อไฟฟ้าที่1.68 บาทต่อหน่วยโดยมีระยะเวลารับซื้อไฟฟ้ารวม10 ปี