กพช.ไฟเขียวโรงไฟฟ้าชุมชน 4ประเภท 700เมกะวัตต์กำหนดราคารับซื้อไฟจูงใจนักลงทุน

4806
- Advertisment-

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2562  เห็นชอบแนวทางร่วมทุนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 4ประเภท ได้แก่ ชีวมวล, ชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย) ,ชีวภาพ (พืชพลังงาน) ,และ เชื้อเพลิง ผสมผสานหรือ Hybrid ระหว่างชีวมวล หรือ ชีวภาพ ข้างต้น กับพลังงานแสงอาทิตย์  รวมกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์กำหนดอัตรารับซื้อจูงใจนักลงทุน ตั้งแต่ 2.90 บาท-5.37บาทต่อหน่วย ส่วนพื้นที่พิเศษที่อยู่ในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา ได้เพิ่ม อีก 0.50 บาทต่อหน่วยในทุกชนิดเชื้อเพลิง  ตั้งเงื่อนไขให้ชุมชน ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ร่วมถือหุ้นสัดส่วน 10-40%  พร้อมตั้งกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าฯ ที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกโครงการ  คาดออกประกาศรับซื้อได้ช่วง มี.ค.-เม.ย.2562

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2562 ว่า ที่ประชุม ได้เห็นชอบในหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT)และราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อ 4 ธ.ค.62  โดยแยกเชื้อเพลิงออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ชีวมวล, ชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย) ,ชีวภาพ (พืชพลังงาน) ,และ เชื้อเพลิง ผสมผสานหรือ Hybrid ระหว่างชีวมวล หรือ ชีวภาพ ข้างต้น

โดยโรงไฟฟ้าชุมชนดังกล่าวจะมีขนาดปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์และเป็นสัญญาประเภท Non-Firm ที่สามารถใช้ระบบกักเก็บพลังงานร่วมด้วยได้ แต่ห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วงเริ่มต้นเดินเครื่อง ซึ่งในปี 2563 กำหนดปริมาณเปิดรับซื้อไฟฟ้าเอาไว้ที่ 700 เมกะวัตต์ และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) แบ่งออกเป็น 2 โครงการ คือ (1)กลุ่ม Quick win เป็นโครงการที่ให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2563 ซึ่งเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จ เข้ามาร่วมโครงการ และ(2) โครงการทั่วไป จะเปิดโอกาสให้ผู้มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการเป็นการทั่วไป และอนุญาตให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เป็นต้นไป

- Advertisment -

ทั้งนี้ได้มีการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่จูงใจนักลงทุน  ตามที่ กพช. เคยได้เห็นชอบไว้เมื่อ 17 ก.พ. 2560  คือพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ต้องแยกมิเตอร์ออกมาอย่างชัดเจน อัตรา 2.90 บาทต่อหน่วย ชีวมวลที่กำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 เมกะวัตต์ อัตรา 4.8482 บาทต่อหน่วย ชีวมวลกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า3 เมกะวัตต์ อัตรา 4.2636 บาทต่อหน่วย ก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย) อัตรา 3.76 บาทต่อหน่วย ก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน 100%)อัตรา 5.3725 บาทต่อหน่วย ก๊าซชีวภาพพืชพลังงานผสมน้ำเสีย/ของเสีย อัตรา 4.7269 บาทต่อหน่วย รวมทั้ง กำหนด Feed in Tariff  พรีเมี่ยมให้กับพื้นที่พิเศษที่อยู่ในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา อีก 0.50 บาทต่อหน่วยในทุกชนิดเชื้อเพลิง

บรรยากาศการประชุม กพช.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ตั้ง คณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าฯ ที่มี ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานและมี อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เป็นเลขานุการ เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ และคัดเลือกเรียงตามลำดับจากโครงการที่เสนอให้ผลประโยชน์คืนสู่ชุมชนสูงสุดไปสู่ผลประโยชน์ต่ำสุด ทั้งนี้ จะพิจารณารับซื้อจากโครงการ Quick win ก่อนเป็นลำดับแรก แล้วจึงจะพิจารณารับซื้อจากโครงการทั่วไป

สำหรับรูปแบบการร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จะประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชนอาจร่วมกับองค์กรของรัฐ) สัดส่วนประมาณร้อยละ 60 – 90 และ (2) กลุ่มวิสาหกิจชุมชน (มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) สัดส่วนประมาณ ร้อยละ 10 – 40 (เป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีก

รวมแล้วไม่เกินร้อยละ 40)  พร้อมกำหนดให้แบ่งรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ให้กับกองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” ของโรงไฟฟ้านั้น ๆ โดยมีอัตราส่วนแบ่งรายได้ (1) สำหรับโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ไม่ต่ำกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย (2) สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Hybrid ไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย

นอกจากนี้ผู้เสนอโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนจะต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิง โดยมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน ในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญา (Contract farming) ซึ่งในสัญญาจะต้องมีการระบุข้อมูลปริมาณการรับซื้อเชื้อเพลิง ระยะเวลาการรับซื้อเชื้อเพลิง คุณสมบัติของเชื้อเพลิงและราคารับซื้อเชื้อเพลิงไว้ในสัญญาด้วย

ส่วนการออกระเบียบหรือประกาศรับซื้อไฟฟ้า กพช.ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. 2563

Advertisment