กพช. ไฟเขียวนำร่องโครงการซื้อขายไฟฟ้า Direct PPA เริ่ม 2,000 เมกะวัตต์

- Advertisment-

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบโครงการนำร่องซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง “Direct PPA” ขนาด 2,000 เมกะวัตต์ หวังดึงดูดต่างชาติลงทุนอุตสาหกรรม Data Center  สั่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) วางรายละเอียดหลักเกณฑ์ ย้ำค่าไฟต้องแข่งขันได้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย คาดเริ่มดำเนินโครงการได้ต้นปี 2568 พร้อมขยายต่ออายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าชีวมวล ที่ต้องการเปลี่ยนจากระบบ Adder  เป็น Fit คงอัตรา 2.28 บาทต่อหน่วย

ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า ที่ประชุม กพช. ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงกระตุ้นความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งเป็นไฟฟ้าสะอาดที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โดยที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินการโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) ให้แก่บริษัทชั้นนำของโลกที่รัฐบาลได้เชิญชวนไว้และสนใจเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะในด้าน Data Center ที่มีความต้องใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามข้อกำหนดจากบริษัทแม่ โดยเห็นชอบกรอบการดำเนินการในปริมาณไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์

- Advertisment -

โดยบริษัทที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ต้องมีลักษณะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ มีการดำเนินการที่เท่าเทียมกันในทุกประเทศที่ไปลงทุน และไม่มีการขายไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ศึกษาผลกระทบจากการดำเนินการโครงการนำร่อง Direct PPA ผ่านการขอใช้บริการ TPA ต่อสถานภาพของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งและผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรม

พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้ กกพ. จัดทำอัตราค่าบริการ TPA ให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 โดยให้ครอบคลุมค่าบริการต่าง ๆ เช่น 1. ค่าบริการระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge) 2. ค่าบริการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Connection Charge) 3. ค่าบริการความมั่นคงระบบไฟฟ้า (System Security Charge หรือ Ancillary Services Charge) 4. ค่าบริการหรือค่าปรับในการปรับสมดุลหรือบริหารปริมาณไฟฟ้า (Imbalance Charge) 5. ค่าใช้จ่ายเชิงนโยบาย (Policy Expenses) และค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในภาพรวมทั้งประเทศ และสอดรับกับข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ และให้นำเสนอ กบง. พิจารณาเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่า ที่ประชุม กพช. ได้เห็นชอบข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้ากรณีการต่ออายุสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนรูปแบบจาก Adder เป็น Feed-in Tariff (FiT) ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2559 ในอัตราคงที่ 2.28 บาทต่อหน่วย ตามระยะเวลาที่โครงการปรับลดจากการเปลี่ยนจากรูปแบบ Adder เป็น FiT เป็นระยะเวลา 27 – 56 เดือน

ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ภาครัฐพิจารณาให้ต่ออายุสัญญาจะสามารถผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบเพิ่มได้โดยไม่ต้องมีการลงทุนเครื่องจักรใหม่ เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้มีการผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) มาแล้วแต่ยังไม่ครบอายุโครงการ (20 ปี) ตามอายุมาตรฐานของเครื่องจักร/โรงไฟฟ้า จึงอาจทำให้เครื่องจักรและโรงไฟฟ้ายังอยู่ในสภาพที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากมีการต่ออายุสัญญาออกไป โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะไม่มีความเสี่ยงเรื่องการเงินและการดำเนินธุรกิจเนื่องจากได้รับการคืนทุนเงินลงทุนโครงการและได้รับผลตอบแทนจากการขายไฟฟ้าตามมาตรการรับซื้อไฟฟ้า FiT ตามที่กำหนดแล้ว ทำให้ภาครัฐสามารถที่จะพิจารณาอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ และไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ยังเห็นชอบให้กรรมสิทธิ์ในใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) หรือคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ที่เกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนรูปแบบจาก Adder เป็น FiT ที่ได้รับการต่ออายุสัญญา เป็นกรรมสิทธิ์ของการไฟฟ้าในฐานะผู้รับซื้อ หรือภาครัฐ

Advertisment

- Advertisment -.