กพช.เห็นชอบยุทธศาสตร์การลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันฯ ที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ในช่วงปี 2563 – 2565 ที่จะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลB10 ,B20 แก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในอีก 3 ปี ซึ่งมีการประเมินว่า ดีเซลB20 และ E85 จะหายไปจากตลาดน้ำมันในที่สุด พร้อมให้คงอัตราส่งเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์ที่ 0.10 บาทต่อลิตร ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 2 ปี (22 เมษายน 2563 – 21 เมษายน 2565)
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2563 เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันฯ ที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ในช่วงปี 2563 – 2565 ซึ่งตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2562 กำหนดให้จ่ายเงินชดเชยได้ต่อไปเป็นเวลา 3 ปี นับจากวันที่กฎหมายบังคับใช้ และต่อได้อีกไม่เกิน 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 2 ปี โดยจะมีหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและมาตรการเพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันฯ ที่มีส่วนผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในกลุ่มเบนซินและกลุ่มดีเซล
ทั้งนี้ปัจจุบันน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพที่รัฐให้การส่งเสริมผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประกอบด้วย แก๊สโซฮอล์ E85 มีการชดเชยมากที่สุดที่ลิตรละ7.38 บาท ทำให้มีราคาขายปลีก ณ วันที่ 19 มี.ค.2563 อยู่ที่ 15.29 บาทต่อลิตร รองลงมาคือ ดีเซลหมุนเร็วB20 ชดเชยอยู่ที่ลิตรละ 3.91บาทต่อลิตร ทำให้มีราคาขายปลีกอยู่ที่ 18.29บาทต่อลิตร ดีเซลB10 ชดเชยลิตรละ 2 บาท มีราคาขายปลีกที่ 18.79บาทต่อลิตร และแก๊สโซฮอล์ E20 ชดเชยอยู่ที่ลิตรละ1.78 บาท ราคาขายปลีกอยู่ที่ 16.94 บาทต่อลิตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันฯ ที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่ กพช.ให้ความเห็นชอบ จะทำให้ราคาของน้ำมันทั้ง 4 ประเภทที่ได้รับการชดเชยดังกล่าวสะท้อนต้นทุนที่เป็นจริง ซึ่ง E85 และ B20 จะมีราคาแพงกว่าน้ำมันประเภทอื่นมาก และผู้บริโภคจะหันไปใช้ E20 และ B10 แทน จนผู้ค้าน้ำมันจะต้องเลิกจำหน่ายไปในที่สุด
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563-2567 ที่กพช.ให้ความเห็นชอบ โดยยุทธศาสตร์ด้านอื่นๆ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันฯ ในกรณีเกิดวิกฤตด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563-2567 มีแนวทาง อาทิ การแยกบัญชีตามกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลุ่มดีเซล เบนซิน และก๊าซปิโตรเลียมเหลวเพื่อหลีกเลี่ยงการอุดหนุนราคาข้ามกลุ่มเชื้อเพลิง มีกรอบความต่างของราคาเชื้อเพลิงหลักของกลุ่มดีเซลและเบนซิน การชดเชยราคาน้ำมันฯ เมื่อเกิดวิกฤตเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ทบทวนหลักเกณฑ์บริหารอย่างน้อย ปีละครั้ง โดยมีแบบจำลองสถานการณ์วิกฤตในระดับต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการ
และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ ตามหลักธรรมาภิบาล โดยบริหารจัดการตามหลักนิติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ หลักความคุ้มค่า เพื่อบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯที่มีมาตรฐาน มีธรรมาภิบาล
นอกจากนี้ กพช.ยังเห็นชอบแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และการกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยให้อัตราคงเดิมที่ 0.1000 บาทต่อลิตร ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 2 ปี (22 เมษายน 2563 – 21 เมษายน 2565) เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการต่างๆ ในเรื่องต้นทุนรายจ่ายด้านพลังงาน จากการพิจารณาระดับฐานะการเงินที่ไม่กระทบภารกิจของกองทุนฯ ในการสนับสนุนการดำเนินโครงการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายพลังงาน ซึ่งสถานะการเงินของกองทุนฯ มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับประมาณการรายจ่ายตามกรอบวงเงินที่อนุมัติให้จัดสรรปี 2563 – 2566 ปีละ 10,000 ล้านบาท ภายในวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท