กพช.อนุมัติกรอบ FiT โรงไฟฟ้าขยะชุมชน VSPPได้ไม่เกิน 5.08 บาท และ SPP ไม่เกิน 3.66 บาทต่อหน่วย

2694
- Advertisment-

ปลัดกระทรวงพลังงาน เผยมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เห็นชอบกรอบอัตรา FiT โรงไฟฟ้าขยะชุมชนปี 2565 สำหรับ ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP)อัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.08 บาทต่อหน่วย (FiT Premium 8 ปี 0.70 บาท/หน่วย) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP)กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 3.66 บาทต่อหน่วย และระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบหลักการในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ การให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง หรือ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 โดยหลักการในรูปแบบ FiT ปี 2565 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ อยู่ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.08 บาทต่อหน่วย (FiT Premium 8 ปี 0.70 บาท/หน่วย)

ส่วนผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10-50 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 3.66 บาทต่อหน่วย และระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน( กกพ.) พิจารณากำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงต้นทุนการดำเนินงานแต่ละโครงการ,ต้นทุนการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ เพื่อใช้เป็นอัตราในการประกาศรับซื้อไฟฟ้าต่อไป

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า ที่ผ่านมาโควต้าการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ล็อตใหม่ 400 เมกะวัตต์ ที่เพิ่มขึ้นมาจากล็อตแรก 500 เมกะวัตต์ที่จบโครงการไปแล้ว มีความล่าช้าไปจากแผนที่ควรจะรับซื้อได้ภายในปี 2564 เพราะกระทรวงพลังงาน คำนวณอัตรา FiT ออกมาในอัตราที่ต่ำกว่า 2 บาทต่อหน่วย ซึ่งทำให้เอกชนผู้ลงทุนไม่พอใจ และพยายามที่จะกดดันให้ได้ FiT ในอัตราเดิม และคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน( กบง.) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 เห็นชอบ FiT อัตราเท่าเดิม และนำเสนอต่อที่ประชุม กพช.ในครั้งนี้

สำหรับเอกชนผู้ลงทุนที่เตรียมเสนอขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบและจะได้รับ FiT ในอัตราที่ กพช.กำหนด อาทิ โครงการประเภท SPP 3 โครงการซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือแจ้งยืนยันเข้ามาแล้วคือ โครงการกำจัดมูลฝอยด้วยระบบเตาเผาขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม กำลังผลิตติดตั้ง 30 เมกะวัตต์ และ โครงการกำจัดมูลฝอยด้วยระบบเตาเผาขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช กำลังผลิตติดตั้ง 30 เมกะวัตต์ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เห็นชอบตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 และ กทม.เซ็นสัญญาให้สัมปทานกับ บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (ประเทศไทย) ที่มีบริษัทแม่อยู่ที่ประเทศจีน

โครงการสร้างระบบการจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF ของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช กำลังผลิตติดตั้ง 19.8 เมกะวัตต์
ส่วนประเภท VSPP มีผู้ลงทุนจองโควต้าไว้แล้วในลิสต์ของ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือ สถ. จำนวน 26 โครงการ ปริมาณรวม 187 เมกะวัตต์ ซึ่งเอกชนที่มีโครงการอยู่ในมือมากที่สุดคือ บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด จำนวน 8 โครงการกำลังการผลิตรวม 52.7เมกะวัตต์ รองลงมาคือกลุ่มเมโทร เอ็นเนอยี่ 3 โครงการ กำลังการผลิต รวม 23.2 เมกะวัตต์ กลุ่มบริษัทท่าฉาง อุตสาหกรรม 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 22 เมกะวัตต์
โดยขั้นตอนต่อไปคือการนำเสนอมติ กพช.ให้ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบ จากนั้น ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.จะเป็นผู้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า เพื่อให้เอกชนที่เตรียมความพร้อมโครงการเอาไว้ล่วงหน้าเสนอโครงการเพื่อขายไฟฟ้าเข้าระบบ ให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฏหมาย

Advertisment