กบอ.ไฟเขียวโครงการห้องเย็นเทคโนโลยี Blast freezer ขนาด 4,000 ตัน ของปตท.ในEEC

857
- Advertisment-

คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) รับทราบความคืบหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรือ EFC ซึ่งเป็นโครงการหลักของ EEC ที่จะมีบริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ลงทุนห้องเย็นเทคโนโลยี Blast freezer เพื่อรักษาคุณภาพผลไม้ให้เสมือนเพิ่งเก็บจากสวนขนาด 4,000 ตัน นำร่องทุเรียน ภายใน 1 ปีนี้ บนพื้นที่ เริ่มต้น 40 ไร่บริเวณ Smart Park ที่มาบตาพุดก่อนขยายสู่ผลไม้อื่นและอาหารทะเลต่อไป 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 1/2564 โดยมีหนึ่งในวาระที่สำคัญเกี่ยวกับ ความก้าวหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรือ EFC ซึ่งเป็นโครงการหลักของแผนพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่ EEC ว่า   ที่ผ่านมาได้มีการลงนามความร่วมมือ( MOU) การจัดทำระบบห้องเย็น ของ  3 องค์กร ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( สกพอ.) บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

โดย สกพอ. ดูแลด้านการวางกลไกบริหาร ประสานภาคเอกชน ผู้นำท้องถิ่น สหกรณ์ พร้อมพัฒนาการแปรรูป ประมูลสินค้า และการส่งออก สร้างรายได้สูงสุดตรงสู่เกษตรกร ส่วน ปตท. เป็นผู้ลงทุนระบบห้องเย็นขนาด 4,000 ตัน ด้วยเทคโนโลยีคงคุณภาพผลไม้ให้เหมือนเก็บจากสวน ยืดอายุ ไม่ต้องรีบส่งขาย และ กนอ. จัดหาพื้นที่บริเวณสมาร์ทปาร์ค มาบตาพุด

- Advertisment -

ทั้งนี้ระบบห้องเย็นจะนำร่องด้วย ทุเรียน และผลไม้อื่น ๆ ก่อนจะต่อยอดไปยังอาหารทะเล ที่จะช่วยรักษาความสดใหม่ ให้เกษตรกรขายได้ตลอดปี มีรายได้มั่นคง สม่ำเสมอ ทำให้ผลไม้ไทยแข่งขันได้ทั่วโลก พร้อมก้าวสู่ศูนย์กลางตลาดผลไม้โลก

โดยจะดำเนินการใน  4 แนวทาง ได้แก่ 1.  ศึกษาความต้องการของตลาด เน้นสินค้า ทุเรียน มังคุด และผลไม้ในภาคตะวันออก สำรวจตลาดทั้งในและต่างประเทศ ถึงรสนิยมผู้บริโภค โดย สกพอ. อยู่ระหว่างศึกษาความต้องการตลาดทุเรียน เริ่มจากผู้บริโภคชาวจีน

  1. วางระบบการค้าสมัยใหม่ ผ่าน e-commerce และ e-Auction พัฒนาและลงทุนบรรจุภัณฑ์ ให้ผลไม้จากภาคตะวันออก ขนส่งทางอากาศได้จำนวนมาก และสะดวก สู่ตลาดโลกได้ทันที เกษตรกรได้รับรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
  2. จัดทำระบบห้องเย็น ที่ทันสมัย เพื่อรักษาคุณภาพผลไม้ให้สดใหม่เหมือนเก็บจากสวน ส่งขายได้ตลอดปี และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย โดยคาดว่าจะเปิดดำเนินการระยะแรกได้ภายใน 12 เดือน

4.จัดทำระบบสมาชิก โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ระยอง จะช่วยรวบรวมสมาชิกสวนทุเรียน เพื่อนำร่องโครงการ โดยสมาชิกที่ร่วมโครงการ จะต้องใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ตรงความต้องการของตลาด

วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)

ด้าน นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ระบบห้องเย็นที่ ปตท.จัดทำขึ้นจะเป็นระบบที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ในกระบวนการแช่แข็งผลไม้และอาหารอย่างรวดเร็ว เพื่อถนอมคุณภาพอาหารไม่ให้สูญเสีย เมื่อแช่แข็งแล้วจะนำมาเก็บในห้องเย็นที่มีอุณภูมิเย็นกว่าปกติทั่วไปเพื่อไม่ให้สินค้าที่แช่แข็งไว้ละลาย ก่อนนำส่งไปจำหน่ายจะทำให้คุณภาพเหมือนเดิมและสดใหม่

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ลงนาม MOUการจัดทำระบบห้องเย็น (Blast freezer & Cold storage) ภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC ) กับนางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

โดย ปตท. จะเป็นผู้ลงทุนจัดทำระบบห้องเย็นทันสมัยขนาด 4,000 ตัน ที่นำเอาพลังงานความเย็นจากLNG มาใช้ประโยชน์ ส่วนหนึ่งเป็นเทคโนโลยี Blast freezer เพื่อรักษาคุณภาพผลไม้ให้เสมือนเพิ่งเก็บจากสวน และระบบ Cold storage ที่จะรักษาคุณภาพผลไม้นั้นให้ขายได้ตลอดปี ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรไทย จากที่ผ่านมาเกษตรกรชาวสวนต้องรีบตัด-รีบขาย-รีบส่ง ทำให้ขายผลผลิตไม่ได้ราคา เสียคุณภาพ และเสียชื่อเสียง โดยจะนำร่องด้วยทุเรียนจากนั้นจะขยายผลไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ

ส่วน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะเป็นผู้หาพื้นที่ เริ่มต้น 40 ไร่บริเวณ Smart Park ที่มาบตาพุดและ สำนักงาน EEC จะประสานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประโยชน์ จากโครงการกลับไปสู่ประชาชนในพื้นที่

 

Advertisment