กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รีดเงินผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ที่เป็นกลุ่มรถมอเตอร์ไซด์ รถยนต์ส่วนบุคคล ส่งเข้ากองทุนฯ เพิ่มอีก โดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ถูกเรียกเก็บถึง 3.70 บาทต่อลิตร ขณะที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ยังชดเชยราคาดีเซล 1.06 บาทต่อลิตร หวังดึงเงินเข้ากองทุนฯ ให้มากที่สุด ก่อนสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร 31 ก.ค. 2567 นี้
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2567 ได้มีมติปรับลดเงินชดเชยราคาน้ำมันดีเซลลงจาก 1.56 บาทต่อลิตร เหลือ 1.06 บาทต่อลิตร เพื่อลดภาระกองทุนฯ ลง นอกจากนี้ยังได้มีมติเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ เพื่อส่งเข้ากองทุนฯ มากขึ้นอีก 30 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา
โดยล่าสุดได้เรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพื่อส่งเข้ากองทุนฯ เพิ่มเป็น 10.28 บาทต่อลิตร จากเดิมเรียกเก็บ 9.98 บาทต่อลิตร, เก็บเงินผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 เพิ่มเป็น 3.70 บาทต่อลิตร จากเดิมเก็บอยู่ 3.40 บาทต่อลิตร, เรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เพิ่มเป็น 1.71 บาทต่อลิตร จากเดิมเก็บอยู่ 1.41 บาทต่อลิตร, เรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 เพิ่มขึ้นเป็น 1.06 บาทต่อลิตร จากเดิมเรียกเก็บ 0.76 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้เนื่องจากกองทุนน้ำมันฯ กำลังอยู่ในสถานะที่การเงินติดลบสูง และต้องรีบเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ให้มากขึ้น เพื่อชำระหนี้เงินต้นก้อนแรก 30,000 ล้านบาทคืนให้สถาบันการเงินในเดือน พ.ย. 2567 นี้ ประกอบกับมาตรการปรับขึ้นราคาดีเซลไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ก.ค. 2567 นี้ หากไม่มีการต่ออายุมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาดีเซลกลับมาอยู่ที่ราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งหมายความว่ากองทุนฯ จะต้องนำเงินเข้าไปชดเชยราคาดีเซลเพิ่มมากขึ้นอีก ดังนั้นกองทุนฯ จึงต้องเร่งเก็บเงินเข้ามาเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ดังกล่าวที่จะถึงนี้
สำหรับฐานะเงินกองทุนฯ ล่าสุด ณ วันที่ 14 ก.ค. 2567 ที่รายงานโดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) พบว่า เงินกองทุนน้ำมันฯ ติดลบรวม -111,855 ล้านบาท โดยมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -64,252 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม -47,603 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามการที่กองทุนฯ ยังคงชดเชยราคาดีเซลอยู่ 1.06 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาจำหน่ายดีเซลอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร ดั้งนั้นถ้าไม่ชดเชยจะส่งผลให้ราคาดีเซลแท้จริงจะอยู่ที่ประมาณ 34 บาทต่อลิตร และก่อนถึงวันที่ 31 ก.ค. 2567 ที่มาตรการตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดลง ทาง กบน. จะต้องหารือกันเพื่อเสนอแนวทางดูแลราคาดีเซลต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกล่าสุด ณ วันที่ 19 ก.ค. 2567 เวลาประมาณ 12.30 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 85.21 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.64 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 82.30 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.52 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 84.65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.46 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
และเมื่อพิจารณาค่าการตลาดน้ำมันที่ผู้ค้าได้รับ ในวันที่ 19 ก.ค. 2567 ซึ่งรายงานโดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พบว่าค่าการตลาดดีเซล B7 อยู่ที่ 1.77 บาทต่อลิตร และดีเซล B20 อยู่ที่ 1.11 บาทต่อลิตร ส่วนกลุ่มเบนซินยังสูงอยู่ที่ประมาณ 3.4-3.7 บาทต่อลิตร โดยเฉลี่ยค่าการตลาดน้ำมันวันที่ 1-19 ก.ค. 2567 อยู่ที่ 2.44 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่ควรได้ที่ 1.50-2 บาทต่อลิตร)