รัฐมนตรีพลังงาน นัดประชุม คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ในวันที่ 28 ก.ย. 2564 ขยายกรอบวงเงินบัญชี LPG เพื่อรองรับมติ กบง. ที่ให้ตรึงราคา LPG ต่อถึง ธ.ค. 2564 ท่ามกลางฐานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ร่อยหรอคาดว่าจะเหลือใช้ได้อีกแค่ 6 เดือน ขณะที่ราคา LPG โลกพุ่งสูงสุดในรอบปีแตะ 700 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ดันราคาชดเชยพุ่งถึง 12 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต้องใช้เงินชดเชยอีกประมาณ 3,900 ล้านบาท ในช่วง 3 เดือนข้างหน้าโดยเล็งกู้เงินเติมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันตามกรอบกฏหมายอีกไม่เกิน 20,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน จะมีการประชุมกันในวันที่ 28 ก.ย. 2564 นี้ เพื่อพิจารณาขยายกรอบวงเงินบัญชีก๊าซหุงต้ม ( LPG) เพิ่มจาก 18,000 ล้านบาท สำหรับดูแลราคา LPG ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 ที่เห็นชอบให้คงราคาขายปลีก LPG ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรอบวงเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในบัญชีLPG ที่ กบน.เคยอนุมัติไว้อยู่ที่ 18,000 ล้านบาท แต่มีการใช้เงินชดเชยราคาจนเหลือประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการตรึงราคาตามมติ กบง. จึงต้องมีการขยายกรอบวงเงินเพิ่มขึ้นอีก โดยทางสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กำลังพิจารณาว่าจะเสนอให้ขยายกรอบแบบเดือนต่อเดือน หรือขยายกรอบวงเงินเพื่อให้พอใช้ไปจนถึงเดือน ธ.ค. 2564 เนื่องจากราคา LPG โลกยังมีความผันผวนในระดับสูง
โดยราคาปรับขึ้นสูงสุดในรอบปี 2564 มาอยู่ที่ระดับ 700 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้กองทุนฯ ต้องนำเงินไปชดเชยราคา LPG เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ชดเชยอยู่ 600-700 ล้านบาทต่อเดือน เป็น 1,300 ล้านบาทต่อเดือน หรือเท่ากับชดเชยราคาLPG เพิ่มขึ้นเป็น 12 บาทต่อกิโลกรัม ( หรือเท่ากับ 180 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ) จากเดิมชดเชยอยู่ 10 บาทต่อกิโลกรัม( หรือเท่ากับ 150 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม )
ทั้งนี้หากราคาLPGโลกยังคงอยู่ในระดับสูงไปจนถึงสิ้นปี คาดว่าจะต้องใช้เงินเพื่อชดเชยราคาก๊าซหุงต้มอีกประมาณ 3,900 ล้านบาท
ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ เหลือเงินรวมประมาณ 11,000 ล้านบาท และมีเงินไหลออกเดือนละประมาณ 2,000 ล้านบาท จากการชดเชยราคา LPG จำนวน 1,300 ล้านบาทต่อเดือน และการชดเชยราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้ง E20 E85 ดีเซล ( B10 ) และดีเซลB20 รวมประมาณ 700 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้นวงเงินที่เหลืออยู่ดังกล่าวจะเหลือใช้ไปได้อีกเพียงประมาณ 6 เดือนจากนี้ หรือใช้ได้ถึงเดือน มี.ค. 2565
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการประชุม กบน. สัปดาห์หน้า ทาง สกนช.จะรายงานสถานการณ์เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อที่ประชุม กบน.ให้พิจารณาเตรียมพร้อมถึงแนวทางการกู้เงินในกรอบ 20,000 ล้านบาท เพื่อพยุงกองทุนฯ ให้มีเงินเพียงพอชดเชยราคาน้ำมันและLPG ต่อไป รวมทั้งอาจต้องพิจารณาแนวทางการปรับขึ้นราคา LPG เพื่อลดภาระกองทุนฯลงด้วยอีกทาง
โดยที่ประชุม กบง.เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นราคา LPG ไตรมาสละ 1 บาทต่อกิโลกรัม แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังคลี่คลายลงไม่มาก ที่ประชุม กบง.จึงได้เลื่อนแนวทางการขึ้นราคา LPG ดังกล่าวไปพิจารณาในการประชุม กบง.ครั้งต่อไปแทน