ที่ประชุม กบน. เห็นชอบ ร่างหลักเกณฑ์กู้ยืมเงินเสริมสภาพคล่องเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เดินหน้าตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร เตรียมพร้อมนำเสนอ ครม. เห็นชอบ
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเนื้อหาและสาระสำคัญร่างหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินตามที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนำเสนอ เพื่อเตรียมพร้อมสภาพคล่องในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชนในช่วงที่สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาที่ได้มอบหมายให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปจัดทำหลักเกณฑ์การกู้เงินตามกรอบของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหลังจากนี้จะมีการนำเสนอร่างหลักเกณฑ์การกู้เงินดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันวันที่ 31 ต.ค.2564 ว่า ผลจากการที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายในการตรึงราคาดีเซลเอาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาชดเชยราคานั้น ทำให้ ปัจจุบัน ดีเซลบี7 ชดเชยอยู่ที่ 1.99บาทต่อลิตร ดีเซล(บี10)ชดเชยอยู่ที่ 2.14 บาทต่อลิตร ดีเซลบี20 ชดเชยอยู่ที่ 4.16 บาทต่อลิตร ในขณะที่ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน95 ถูกเก็บเงินเข้ากองทุนในอัตรา 6.58 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์91และ95 ถูกเก็บในอัตรา 0.58 บาทต่อลิตร ส่วน อี20 กองทุนเข้าไปชดเชย 2.28 บาทต่อลิตร และ อี85 ชดเชยอยู่ที่ 7.13 บาทต่อลิตร สำหรับแอลพีจี หรือ ก๊าซหุงต้มชดเชยที่กิโลกรัมละ 17.61 บาท
ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เสนอขอกู้เงินได้ในวงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท โดยภาระการชดเชยราคาที่ทำให้เงินไหลออกมากกว่ารายได้ มากกว่าเดือนละ 5,000 ล้านบาทในขณะนี้ มีการประเมินว่า วงเงินกู้ที่ได้จะใช้ไปได้อีกประมาณ 3-4 เดือนเท่านั้น