คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ยังคงชดเชยราคาดีเซล 40 สตางค์ต่อลิตร ในขณะที่เก็บเงินจากผู้ใช้เบนซิน 10.28 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 เก็บ 3.70 บาทต่อลิตร ส่งผลกองทุนน้ำมันฯ มีเงินไหลเข้า 88.15 ล้านบาทต่อวัน โดยกองทุนน้ำมันยังติดลบสูงถึง 111,663 ล้านบาท ชี้ ต้องเร่งเก็บเงินเข้ากองทุนให้ได้มากที่สุด ก่อนถึงกำหนดชำระหนี้เงินต้นก้อนแรก 3 หมื่นล้านบาท เดือน พ.ย. 2567 นี้ ขณะที่ผู้ค้าน้ำมันเก็บค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์สูงถึง 3-4 บาทต่อลิตร
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานสถานการณ์เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567 ได้มีมติปรับลดเงินชดเชยราคาน้ำมันดีเซลลงจาก 80 สตางค์ต่อลิตร เหลือ 40 สตางค์ต่อลิตร เพื่อลดภาระกองทุนฯ ลง
โดยการลดการชดเชยราคาดีเซลดังกล่าวส่งผลให้กองทุนฯ กลับมามีเงินไหลเข้าทันที 88.15 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งมาจากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์เข้ากองทุนฯ 81.76 ล้านบาทต่อวัน และมีรายรับในส่วนของก๊าซหุงต้ม (LPG) 6.39 ล้านบาทต่อวัน
ส่วนภาพรวมเงินกองทุนน้ำมันฯ ยังคงติดลบสูง โดยล่าสุด สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้รายงานฐานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 28 ก.ค. 2567 ว่า เงินกองทุนน้ำมันฯ ยังติดลบอยู่รวม -111,663 ล้านบาท ซึ่งมาจากการนำเงินไปชดเชยราคาน้ำมันดีเซลทำให้บัญชีน้ำมันติดลบรวม -64,066 ล้านบาท และนำไปชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ทำให้บัญชี LPG ติดลบรวม -47,597 ล้านบาท
สำหรับผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ยังคงถูกเรียกเก็บเงินเพื่อส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในระดับสูง โดยผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ถูกเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ 10.28 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 เรียกเก็บ 3.70 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ E20 เรียกเก็บ 1.71 บาทต่อลิตร และแก๊สโซฮอล์ E85 เรียกเก็บ 1.06 บาทต่อลิตร ขณะที่ดีเซลเกรดพรีเมียม ถูกเรียกเก็บ 1.50 บาทต่อลิตร
อย่างไรก็ตามการลดการชดเชยราคาดีเซลลง และเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ในระดับสูงดังกล่าว ก็เพื่อเร่งให้กองทุนฯ มีรายได้มากขึ้น สำหรับรองรับการจ่ายหนี้เงินต้นก้อนแรก จำนวน 30,000 ล้านบาท ให้กับสถาบันการเงิน ในเดือน พ.ย. 2567 นี้
นอกจากผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ ระดับสูงแล้ว ยังต้องถูกเรียกเก็บค่าตลาดจากผู้ค้าน้ำมันในอัตราสูงเช่นกัน ประมาณ 3-4 บาทต่อลิตร โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้รายงานค่าการตลาดน้ำมัน ณ วันที่ 31 ก.ค. 2567 พบว่า ค่าการตลาดน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 4.04 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 3.67 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ 91อยู่ที่ 3.77 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 3.86 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 3.40 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซล B7 อยู่ที่ 2.31 บาทต่อลิตร และดีเซล B20 อยู่ที่ 1.48 บาทต่อลิตร โดยเฉลี่ยค่าการตลาดระหว่าง 1-31 ก.ค. 2567 อยู่ที่ 2.47 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่ควรได้ที่ 1.50-2 บาทต่อลิตร)
ขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกล่าสุด ณ วันที่ 31 ก.ค. 2567 เวลาประมาณ 14.30 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 83.75 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 76.24 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.51 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.37 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ระบุว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณายกเลิก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 และร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาแทน เพื่อให้กระทรวงพลังงานมีอำนาจในการดูแลทั้งกองทุนน้ำมันฯ และการกำหนดเพดานภาษีน้ำมันได้เอง เพื่อให้การบริหารจัดการราคาน้ำมันในประเทศดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาได้ดีขึ้น