คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เตรียมประชุมพิจารณาราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในวันที่ 30 ส.ค. 2566 ก่อนสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ในวันที่ 31 ส.ค. 2566 นี้ หลังจากตรึงราคาดังกล่าวมาเป็นเวลา 6 เดือน ในขณะที่กรอบวงเงินบัญชี LPG ที่กำหนดให้ใช้ตรึงราคาได้สูงสุดไม่เกิน 48,000 ล้านบาท ล่าสุดใช้ไปแล้ว 44,716 ล้านบาท คาดรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ เข้ามาพิจารณาทั้งราคาและกรอบวงเงิน LPG ใหม่ต่อไป
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC) รายงานว่า ในวันที่ 31 ส.ค. 2566 นี้ จะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้มีมติให้ตรึงราคาดังกล่าวมา 2 เดือน ตั้งแต่ 1 ก.ค.-31 ส.ค. 2566 ล่าสุดสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เตรียมประกาศราคา LPG ใหม่ หลังการประชุม กบน. ในวันที่ 30 ส.ค. 2566 นี้
อย่างไรก็ตามการพิจารณาราคา LPG ปกติจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน แต่เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอย่างเป็นทางการ จึงทำให้ กบน. ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ต้องเป็นประธานที่ประชุมพิจารณาราคา LPG แทน ซึ่ง กบน.จะต้องพิจารณาให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ ก่อนมาตรการตรึงราคา LPG จะสิ้นสุดภายในสิ้นเดือน ส.ค. 2566
สำหรับราคา LPG ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทาง กบง. ได้ตรึงราคาดังกล่าวมาตั้งแต่เดือน มี.ค.-มิ.ย. 2566 จากนั้น กบน. ได้ตรึงราคาดังกล่าวต่อในเดือน ก.ค.-ส.ค. 2566 มาเป็นเวลา 6 เดือน (นับตั้งแต่เดือน มี.ค.-ส.ค. 2566) โดยเส้นทางราคา LPG มีการปรับขึ้นราคา 1 บาทต่อกิโลกรัม (หรือ 15 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ) รวม 6 ครั้ง ดังนี้
1. เดือน พ.ค. 2565 ปรับขึ้นราคาเป็น 348 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม (ปรับขึ้นจากราคา 333 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ในเดือน เม.ย. 2565)
2. เดือน มิ.ย.2565 ปรับขึ้นเป็น 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม
3. เดือน ก.ค.2565 ปรับขึ้นเป็น 378 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม
4. เดือน ส.ค. 2565 ปรับขึ้นเป็น 393 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม
5. เดือน ก.ย. 2565- ก.พ. 2566 ปรับขึ้นเป็น 408 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม
6. เดือน มี.ค.-ส.ค. 2566 ปรับขึ้นเป็น 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กบง. ให้กรอบวงเงินสำหรับใช้ชดเชยราคา LPG ได้สูงสุดไม่เกิน 48,000 ล้านบาท โดยล่าสุดใช้เงินไปแล้วรวม 44,716 ล้านบาท ที่ผ่านมา สกนช.คาดว่าวงเงินดังกล่าวจะเพียงพอไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ขึ้นมาพิจารณากรอบวงเงินใหม่อีกครั้งได้
ส่วนภาพรวมสถานการณ์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุด ณ วันที่ 27 ส.ค. 2566 กองทุนฯ ยังอยู่ในสภาวะติดลบ 55,091 ล้านบาท โดยมาจากบัญชีน้ำมันติดลบ 10,375 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 44,716 ล้านบาท