คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เฝ้าติดตามสถานการณ์ผลกระทบราคาน้ำมันโลกจากสงครามในอิสราเอลอย่างใกล้ชิด ยืนยันกองทุนน้ำมันฯ ดูแลราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรได้ถึงสิ้นปี 2566 แน่นอน เหตุราคาน้ำมันโลกยังอยู่ในกรอบแผนรองรับวิกฤติราคาน้ำมันที่ไม่เกิน 120 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ย้ำแม้ต้องควักเงิน 210 ล้านบาทต่อวันพยุงดีเซล ท่ามกลางสถานะการเงินที่ยังติดลบกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท แต่ยังมีเงินกู้ที่ทำการจองไว้ล่วงหน้า 5 หมื่นล้านบาท สามารถกู้ออกมาดูแลราคาพลังงานในประเทศได้ถึงสิ้นปีแน่นอน
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เฝ้าติดตามสถานการณ์การสู้รบในประเทศอิสราเอลอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลผลกระทบต่อราคาน้ำมันในประเทศ เบื้องต้นคาดว่าอาจมีผลกระทบระยะสั้นต่อราคาน้ำมันโลกเท่านั้น เนื่องจากประเทศอิสราเอลไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่และไม่ได้มีการส่งออก หรือเกี่ยวข้องกับการขนส่งน้ำมันแต่อย่างใด
นอกจากนี้ปัจจุบันราคาน้ำมันโลกยังอยู่ในกรอบที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้จัดทำแบบจำลองสถานการณ์ราคาน้ำมันในรูปแบบต่างๆ และแผนรับมือกรณีราคาน้ำมันโลกไม่เกิน 115-120 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งราคาดีเซลสำเร็จรูป ณ วันที่ 10 ต.ค. 2566 ยังไม่เกินกรอบราคาน้ำมันดังกล่าว โดยยังอยู่ที่ 110 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ดังนั้นกองทุนน้ำมันฯ ยังสามารถดูแลราคาน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรต่อไปได้
ทั้งนี้ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ยังช่วยชดเชยราคาดีเซลไว้ 4.48 บาทต่อลิตร เพื่อให้ราคาจำหน่ายปลีกดีเซลอยู่ที่ราคา 29.94 บาทต่อลิตร โดยภาพรวมกองทุนฯ มีรายรับอยู่ที่ 141.22 ล้านบาทต่อวัน แต่มีรายจ่ายรวมถึง 364.66 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งหนึ่งในรายจ่ายนี้คือ การชดเชยราคาน้ำมัน 210 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้ภาพรวมกองทุนฯ อยู่ในสภาวะเงินไหลออก 223.44 ล้านบาทต่อวัน
โดยสถานะกองทุนฯ ล่าสุดที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) รายงาน ณ วันที่ 8 ต.ค. 2566 พบว่ากองทุนฯ ยังคงติดลบอยู่ 68,327 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบ 23,322 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบ 45,005 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามมั่นใจได้ว่ากองทุนฯ ยังสามารถดูแลราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรได้ถึงสิ้นปี 2566 แน่นอน แม้ปัจจุบันได้สิ้นสุดระยะเวลาการให้กรอบวงเงินกู้ 1.5 แสนล้านบาท ไปเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566 แล้ว แต่เนื่องจาก สกนช. ได้ทำเรื่องกู้เงินอีก 5 หมื่นล้านบาท ตามกรอบวงเงินดังกล่าวไว้กับทางสถาบันการเงินล่วงหน้าแล้ว แต่ยังไม่ได้เริ่มเบิกออกมาใช้ จึงทำให้กองทุนฯ ยังมีเงินที่จะกู้ได้อีก 5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินหากกองทุนฯ จำเป็นต้องใช้เงินดูแลราคาน้ำมันในประเทศก็สามารถกู้เงินออกมาใช้ได้ ทั้งนี้โดยรวมกองทุนฯ ได้กู้เงินไปทั้งสิ้นประมาณ 1.08 แสนล้านบาท ซึ่งยังต่ำกว่ากรอบเงินกู้ที่รัฐบาลให้ไว้ 1.5 แสนล้านบาท
สำหรับทางด้านสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกล่าสุด ณ วันที่ 11 ต.ค. 2566 เวลาประมาณ 15.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 88.54 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ราคาเพิ่มขึ้น 2.65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 86.21 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.14 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 87.80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.30 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ตามเมื่อมาดูในด้านค่าการตลาดน้ำมันดีเซล ณ วันที่ 11 ต.ค. 2566 ที่รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) พบว่า ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 1.23 บาทต่อลิตร ขณะที่ค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มเบนซินกลับเพิ่มสูงขึ้นถึง 3.2 – 3.8 บาทต่อลิตร โดยค่าการตลาดเฉลี่ยตั้งแต่วันที่ 1-10 ต.ค. 2566 อยู่ในระดับ 2.98 บาทต่อลิตร ซึ่งค่าการตลาดที่เหมาะสมควรอยู่ที่ระดับ 1.50-2 บาทต่อลิตร ดังนั้นคาดว่าราคาน้ำมันอาจมีการแกว่งตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในระยะสั้นนี้