คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติขึ้นราคาดีเซลอีก 1 บาทต่อลิตร เป็น 34.94 บาทต่อลิตร มีผล 14 มิ.ย. 2565 ชี้เป็นการปรับขึ้นรอบที่ 4 เพื่อพยุงฐานะกองทุนฯ ที่ปัจจุบันติดลบ 9.1 หมื่นล้านบาท ช่วยให้เงินไหลออกลดลงได้เกือบ 2,000 ล้านบาทต่อเดือน ระบุภายในสิ้นเดือน มิ.ย. 2565 นี้ ราคาดีเซลสามารถขึ้นได้ถึง 38 บาทต่อลิตร ด้านกระทรวงพลังงานส่งสัญญาณค่าการกลั่นผู้ประกอบการพุ่งสูงถึง 5.2 บาทต่อลิตร เตรียมขอความร่วมมือลดค่าการกลั่นน้ำมันลง
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.)ว่า ที่ประชุมมีมติปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลอีก 1 บาทต่อลิตร จากเดิมราคา 33.94 บาทต่อลิตร เป็นราคา 34.94 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้เนื่องจากราคาน้ำมันโลกช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับสูงขึ้นมาถึง 160-172 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล (นับเป็นการปรับขึ้นราคาดีเซลรอบที่ 4 นับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2565 เป็นต้นมา)
อย่างไรก็ตามปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯชดเชยราคาดีเซลอยู่ 9.96 บาทต่อลิตร ดังนั้นหากไม่มีการชดเชยราคาจะส่งผลให้ราคาดีเซลที่แท้จริงอยู่ที่ 44.96 บาทต่อลิตร และจากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ผ่านมาเห็นชอบให้ปรับขึ้นราคาดีเซลแบบคนละครึ่ง หรือ ปรับขึ้นราคาครึ่งหนึ่งของราคาชดเชยในปัจจุบัน มีผลตั้งแต่ พ.ค.- มิ.ย. 2565 ดังนั้นจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2565 นี้ ราคาดีเซลมีโอกาสปรับขึ้นได้สูงสุดถึง 38 บาทต่อลิตร ซึ่ง กบน. จะพิจารณาเป็นรายสัปดาห์ตามราคาน้ำมันโลกเป็นหลัก
สำหรับการปรับขึ้นราคาดีเซลอีก 1 บาทต่อลิตรนี้ จะส่งผลให้กองทุนฯ สามารถลดภาระการชดเชยราคาได้วันละประมาณ 60 ล้านบาท หรือประมาณ 1,800 ล้านบาทต่อเดือน โดยฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 12 มิ.ย. 2565 ติดลบสูงสุด 91,089 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบ 54,574 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบ 36,515 ล้านบาท
ทั้งนี้กองทุนฯ ยังมีเงินสดอีกประมาณ 11,000 ล้านบาท ซึ่งฝากไว้ที่ธนาคาร 8,200 ล้านบาท และอยู่ที่กระทรวงการคลังอีก 2,800 ล้านบาท รวมทั้งเงินไหลเข้ากองทุนฯ จากผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินและดีเซลเกรดพรีเมียมอีก 2,000 ล้านบาทต่อวัน ขณะที่กองทุนฯมีภาระรายจ่ายประจำอยู่ที่ 5-7 พันล้านบาทต่อเดือน
ดังนั้นกองทุนฯ ยังมีเงินพอที่จะดูแลราคาพลังงานได้ แต่หากกองทุนฯ ขาดสภาพคล่องก็ยังสามารถนำเงินอุดหนุนจากภาครัฐมาดูแลราคาพลังงานกรณีฉุกเฉินได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามกองทุนฯ จะขอบริหารราคาพลังงานแบบรายสัปดาห์ต่อไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2565 นี้ หลังจากนั้นทางคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) จะพิจารณาแนวทางดูแลราคาพลังงานในเดือน ก.ค. 2565 ต่อไป
นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สกนช. กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงพลังงานเตรียมขอความร่วมมือโรงกลั่นให้ลดค่าการกลั่นน้ำมันลงเพื่อนำเงินเข้ากองทุนฯ ว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาในด้านกฎหมายค่าการกลั่นว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ รวมถึงความเป็นธรรมและสัญญาต่างๆ แต่อย่างไรก็คงต้องขอความร่วมมือกับภาคเอกชนลดค่าการกลั่นลง
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ได้จัดทำค่าการกลั่นเฉลี่ยทุกผลิตภัณฑ์ของโรงกลั่นในรอบ 5 เดือน(ม.ค. –พ.ค. 2565) พบว่า ค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ 3.27 บาทต่อลิตร แต่ในเดือน พ.ค. 2565 ปรับขึ้นเป็น 5.2 บาทต่อลิตร เนื่องจากความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มสูงขึ้น แต่หากพิจารณาค่าการกลั่นย้อนหลัง 10 ปี ค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 บาทต่อลิตร ยกเว้นช่วงปี 2563-2564 ที่ค่าการกลั่นต่ำผิดปกติ อยู่ที่ 70-89 สตางค์ต่อลิตรเท่านั้น