กบง.ไฟเขียว ราชกรุ๊ป สร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก1,400MWแบบไม่ต้องประมูล

2228
- Advertisment-

รัฐมนตรีพลังงาน ระบุที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2562 เห็นชอบตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เสนอให้ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด ก่อสร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 2 โรง รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 1,400 เมกะวัตต์ เหตุเจรจาได้ราคาค่าไฟฟ้าถูกสุด ประธาน กกพ. เผย หลังจากนี้รอ กบง.รับรองมติอย่างเป็นทางการและส่งคืนให้ กกพ.พิจารณาเงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ก่อนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท ราช กรุ๊ปฯ ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เสนอแผนดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่(IPP)ในพื้นที่ภาคตะวันตก โดยให้บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งจะได้อัตราค่าไฟฟ้าถูกสุด และเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) ที่ต้องการให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยประเทศต่ำที่สุด

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กกพ.ได้เสนอข้อสรุปแผนการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงภาคตะวันตก จำนวน 2 โรง ขนาดกำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2567-2568 ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2562  โดยเห็นควรให้ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ RATCH เป็นผู้ดำเนินการทั้ง 2 โรง เนื่องจากสามารถเจรจาค่าไฟฟ้าได้ในอัตราที่ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าของทุกระบบในปัจจุบัน และมีความเหมาะสมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ตั้งในพื้นที่เดิมใน จ.ราชบุรี ซึ่งกบง.ได้อนุมัติตามที่ กกพ.เสนอไป

- Advertisment -

นายเสมอใจ กล่าวว่า หลังจากนี้ กบง.จะส่งมติที่รับรองอย่างเป็นทางการกลับมาให้ กกพ.พิจารณาเงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้ซื้อไฟฟ้าลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับกลุ่ม RATCH ต่อไป
สำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงภาคตะวันตกทั้ง 2 โรงดังกล่าวเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงปี 2567-2568 โดยส่วนหนึ่งเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี ขนาด 700 เมกะวัตต์ ของ RATCH ที่จะหมดอายุในเดือน ก.ค. 2563 และเพื่อเสริมความมั่นคงไฟฟ้าป้อนให้กับภาคใต้ โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรง คาดว่าจะมีอายุสัญญา 25 ปี และใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง

Advertisment