กบง.เห็นชอบส่งเสริมพื้นที่ติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Mapping) ครอบคลุมพื้นที่ชุมชน สถานีบริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงาน ถนนสายหลักระหว่างเมือง โดยกระตุ้นให้ทั้งรัฐและเอกชนยื่นขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อลงทุนติดตั้งสถานีอัดประจุเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะแบบQuick Charge
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบ แนวทางการส่งเสริมพื้นที่ติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Mapping) โดยกรอบนโยบายครอบคลุมพื้นที่ชุมชน สถานีบริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงาน ถนนสายหลักระหว่างเมือง สำหรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น หรือรองรับผู้ที่เดินทางมาจากเมืองอื่น โดยให้ภาครัฐและเอกชนสามารถยื่นขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้ โดยรัฐต้องการให้มีจำนวนสถานีเพิ่มขึ้น สร้างความเชื่อมั่นผู้ใช้รถ EV และกระตุ้นตลาด EV ในภาพรวม
รวมทั้ง เห็นชอบ ผลการศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับระบบขนส่งสาธารณะ (Mass Transit) โดยเป็นอัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ตลอดทั้งวัน มีค่าเท่ากับอัตราค่าพลังงานไฟฟ้า ช่วงเวลา Off Peak ของผู้ใช้ไฟฟ้าตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปัจจุบันประเภท 2.2 กิจการขนาดเล็ก อัตราตามช่วงเวลา (Time Of Use (TOU) หรือเท่ากับ 2.6369 บาทต่อหน่วย (สำหรับแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่า 22 kV) โดยให้เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาต่อไป
ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่า ข้อมูล ณ ปัจจุบัน มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า อยู่แล้วประมาณ 520สถานี โดยรัฐต้องการเน้นให้มีการลงทุนเพิ่มในส่วนของ สถานีอัดประจุแบบเร่งด่วนหรือ Quick Charge ในจุดระหว่างเมือง เนื่องจากยานยนต์ไฟฟ้ามีระยะทางวิ่งได้ประมาณ 200กม.ต่อการชาร์จแต่ละครั้ง และปกติสามารถที่จะชาร์จแบบธรรมดาได้ที่บ้านอยู่แล้ว