กบง.อุ้มผู้ชนะ SPP Hybrid Firm ให้เลื่อนกำหนด SCOD ออกไปอีก 1 ปี โดยไม่เสียค่าปรับ

1119
- Advertisment-

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2563 เห็นชอบตามข้อเสนอเชิงนโยบายตามข้อเสนอของ กกพ. เพื่อเยียวยาผู้ได้รับการคัดเลือกโครงการ SPP Hybrid Firm ในการขยายกำหนดวัน SCOD โครงการ SPP Hybrid Firm ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมปี 2564 เป็นปี 2565 โดยไม่ต้องมีบทปรับ จากปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาโครงการฯ ที่ไม่สามารถจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ทันตามระยะเวลา

วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผอ.สนพ.

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ( สนพ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2563 ที่มีนายสุพัฒน์พงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอเชิงนโยบายตามข้อเสนอของ กกพ. เพื่อเยียวยาผู้ได้รับการคัดเลือกโครงการ SPP Hybrid Firm ในการขยายกำหนดวัน SCOD โครงการ SPP Hybrid Firm ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมปี 2564 เป็นปี 2565 จากปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาโครงการฯ ที่ไม่สามารถจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ทันตามระยะเวลา

โดยมอบให้ กกพ. ไปดำเนินการแจ้งผู้ได้รับการคัดเลือก ให้จัดทำรายงานแผนการดำเนินการโครงการฯ และจัดส่งให้ กกพ. ภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2563 เพื่อพิจารณา และนำผลการพิจารณา มารายงานต่อ กบง. ต่อไป

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า สำหรับโครงการ SPP Hybrid Firm มีผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เสนอขายไฟฟ้าตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 17 ราย กำลังผลิตติดตั้งรวม 434 เมกะวัตต์ ปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ โดยมีการเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าตั้งแต่ ส.ค. 2560 แต่มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement หรือ PPA ) ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด (วันที่ 13 ธ.ค. 2562 ) เพียงแค่ 3 ราย  ส่วนอีก 14 รายที่เหลือ ยังไม่มีการลงนามใน PPA โดยหากผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ไม่ทันกำหนด 31 ธ.ค.2564 จะต้องถูกยกเลิกโครงการพร้อมจ่ายค่าปรับตามข้อกำหนดของ กกพ. ทำให้ กกพ.ต้องมีการนำเสนอให้ กบง. พิจารณา ให้ขยายระยะเวลาลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)และกำหนดวันผลิตไฟฟ้าเข้าระบบออกไปอีก 1 ปี ตามมติ กบง. ในวันนี้ ( 21 ก.ย.2563 ) นี้

โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือก 17 ราย แบ่งตามรายภาค ได้แก่ ภาคใต้ 5 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 100.85 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 โครงการ ปริมาณเสนอขาย84.13เมกะวัตต์ ภาคเหนือ 4 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 71.02 เมกะวัตต์ ภาคตะวันตก 1 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 16 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออก 1 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 16 เมกะวัตต์ และภาค กลาง 1 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 12 เมกะวัตต์

ผู้สื่อข่าว รายงานด้วยว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่โครงการ SPP Hybrid Firm ไม่สามารถลงนาม PPA ได้ทันตามกำหนดนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ มีความพยายามเปลี่ยนรูปแบบโครงการ เพื่อสมัครเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เนื่องจาก มีความพร้อมเรื่องวัตถุดิบ และได้ค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าเดิมมาก  ประมาณ 5 บาทกว่าต่อหน่วย ในขณะที่ ราคาเสนอขายไฟฟ้าเฉลี่ยในการประมูลของ โครงการ SPP Hybrid Firm อยู่ที่ 2.44 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

Advertisment